Friends of Thai Workers Association

Friends of Thai Workers Association Supported By Office of Thai Labour Affairs in Singapore

รำลึกความหลังครั้งก่อตั้งสมาคมฯ


 รำลึกความหลังครั้งก่อตั้งสมาคมฯ

 โดย 

สมทวี ก่อพัฒนาศิลป์

อดีตอัคราชทูตที่ปรึกษา(ฝ่ายแรงงาน)

อดีตหัวหน้าสำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์(..2546-2549)

………………………………………………………


ผมเริ่มรับราชการเมื่อปีพ..2517 ในตำแหน่งผู้ช่วยประชาสงเคราะห์จังหวัดตรี ที่ทำการประชาสงเคราะห์จังหวัดนราธิวาส สังกัดกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย แล้วกลับเข้าไปทำงานในกรมฯพักหนึ่งจึงออกไปดำรงตำแหน่งประชาสงเคราะห์จังหวัดตราดและประชาสงเคราะห์จังหวัดฉะเชิงเทรา จนกระทั่งได้มีการรวมเอากรมประชาสงเคราะห์กับกรมแรงงานตั้งเป็นกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เป็นกระทรวงใหม่ขึ้นมา ผู้ใหญ่ที่ร่วมกันตั้งกระทรวงได้มีการชักชวนผู้ที่มีความรู้ความสามารถและอาวุโสให้มาช่วยกันนำพากระทรวงนี้ผ่านพ้นอุปสรรคระยะต้นของการก่อตั้งไปสู่ความเข้มแข็งก้าวหน้าในการทำงานเพื่อประชาชนต่อไป ผมเห็นว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ในการทำงานจึงได้ตกลงโอนมาสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงฯและไปดำรงตำแหน่งแรงงานและสวัสดิการสังคมจังหวัดตราดเป็นคนแรกในปีพ..2537  ทำหน้าที่เป็นผู้แทนกระทรวงในจังหวัดนั้น และนับว่าเป็นประสบการณ์ที่สนุกเลยทีเดียว เพราะผมไปทำงานในระยะแรกโดยไม่มีลูกน้อง ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือรถลาม้าใช้ต่างๆ ไม่มีแม้กระทั่งสำนักงานหรือโต๊ะนั่งทำงาน ต้องอาศัยประสบการณ์และลูกน้องเก่าที่ที่ทำการประชาสงเคราะห์จังหวัดตราดช่วยไว้จึงทำให้การทำงานผ่านพ้นมาได้และได้วางรากฐานไว้หลายอย่างที่นั่นรวมทั้งการตั้งศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดตราด หลังจากนั้นผมได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งแรงงานและสวัสดิการสังคมจังหวัดระยอง และย้ายเข้ามาสำนักงานปลัดกระทรวงในตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการแรงงานและสวัสดิการสังคม ในปี พ.ศ.2543

ต่อมาในปี พ..2545 สมัยนายเดช บุญหลง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีฯได้มีนโยบายให้มีการสอบคัดเลือกผู้ไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานแรงงานไทยในต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่มีการสอบ มีแต่ผู้ใหญ่พอใจใครก็จะผลักดันแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่ง ผมในขณะนั้นแม้จะมีอาวุโสพอสมควรแล้วแต่ก็ยังอยากมีประสบการณ์ใหม่ๆจึงได้ตัดสินใจสมัครสอบ โดยการสอบมีทั้งการสอบวิชาภาษาอังกฤษที่กรมวิเทศสหการ กระทรวงการต่างประเทศ วิชาการใช้คอมพิวเตอร์และการสอบสัมภาษณ์ ลูกน้องผมบางคนเป็นห่วงถามว่า ..ถ้าสอบไม่ได้ไม่อายเขาหรือ ผมซึ่งเรียนสายวิทยาศาสตร์มาจึงตอบเขาแบบนักวิทยาศาสตร์ว่าไม่เห็นเป็นไรสอบกันอย่างแฟร์ๆได้ก็คือได้ตกก็คือตก ในใจก็นึกหวั่นๆอยู่เหมือนกันว่าภาษาอังกฤษจะสู้คนที่เรียนสายศิลป์มาไม่ได้ แต่ในที่สุดเมื่อผลการสอบออกมาปรากฏว่าผมสอบได้และได้ไปประจำประเทศญี่ปุ่น ผมนำข่าวไปบอกภรรยาและลูก ทุกคนดีใจมาก ผมเห็นความปิติในแววตาของลูกแล้วก็ดีใจว่าเราตัดสินใจไม่ผิด  และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมผมจึงส่งลูกและภรรยาไปเรียนภาษาญี่ปุ่นเพิ่มเติมรวมทั้งซื้อเสื้อผ้าและของใช้จำเป็น เช่น เสื้อโอเวอร์โค้ต รองเท้าบูทและถุงมือฯลฯเตรียมไว้ เพราะคิดว่าคงถูกกว่าไปซื้อที่ญี่ปุ่น

แต่หลังจากนั้น ได้มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีและเปลี่ยนตัวปลัดกระทรวง เรื่องการแต่งตั้งผู้ผ่านการสอบคัดเลือกไปประจำการในต่างประเทศที่ได้ประกาศผลแล้วและได้ส่งตัวผู้ผ่านการคัดเลือกพร้อมคู่สมรสไปรับการอบรมที่กระทรวงการต่างประเทศเรียบร้อยแล้ว รอเพียงคำสั่งแต่งตั้งไปปฏิบัติงานเท่านั้น เรื่องกลับถูกดองไว้โดยไม่มีเหตุผล จนเวลาผ่านไปเกือบหนึ่งปีจึงได้เริ่มแต่งตั้งผู้ผ่านการสอบคัดเลือกไปปฏิบัติงานและก็มีเรื่องที่แปลกประหลาดมากที่สุดที่ผู้ไปปฏิบัติงานต่างประเทศรุ่นนี้ถูกตัดเงินค่าขนย้ายครอบครัวถึง 70% ได้รับเพียง 30%เท่านั้น โดยไม่มีเหตุผลเช่นเดิม สำหรับผมร้ายยิ่งกว่านั้นจากผลการคัดเลือกที่ประกาศออกมาแล้วว่าได้ไปประจำการที่ประเทศญี่ปุ่น ปรากฏว่าเขาให้ผมไปประจำการที่ประเทศสิงคโปร์แทน ถ้าถามว่าแล้วผมยอมรับการกระทำที่ไม่เป็นธรรม ไร้เหตุผลนี้ทำไม ก็อยากบอกว่าแววตาแห่งความปิติที่ผมเห็นในดวงตาของลูกในวันที่ผมบอกเขาว่าจะได้ไปประเทศญี่ปุ่น และแววตาที่เศร้าหมองลงพร้อมกับคำพูดเบาๆว่าไม่เป็นไรครับพ่อเมื่อต่อมาผมบอกเขาว่าต้องรอไปอีกหน่อยไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้ไป ผมคงทำให้ลูกผิดหวังซ้ำสองไม่ได้ ผมจึงยอมกล้ำกลืนเพื่อลูก

ผมเดินทางไปรับงานที่ประเทศสิงคโปร์พร้อมภรรยาและลูก เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2546  ในระยะแรกผมพยามยามเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประเทศสิงคโปร์และชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องแรงงานไทยในสิงคโปร์ให้มากที่สุด โดยได้รับความร่วมมือช่วยเหลืออย่างดียิ่งจาก local staff ของสำนักงาน ทั้งคุณลัดดา คุณไก่ และอาจารย์ขจร(ต่อมาเป็นคุณอรและคุณศัลย์) สำหรับสองคนแรกยืนหยัดอยู่กับสำนักงานมาเป็นระยะเวลายาวนานและมีความจริงใจที่จะช่วยเหลือพี่น้องแรงงานแม้บางครั้งจะเสียงดังไปบ้างซึ่งแรกๆผมเองก็ตกใจเหมือนกันแต่พี่น้องแรงงานก็เข้าใจและได้รับการช่วยเหลืออย่างเต็มที่  นอกจากนี้ก็มีชมรมนักศึกษามสธ.เข้ามาช่วยงานด้วย โดยในขณะนั้นมีคุณอุไรภรณ์(กุ้ง) บุญสร้าง เป็นประธาน และอีกหลายคน เช่น คุณพุทธทาส พากุล คุณสมาน คุณวิชยา คุณสมศักดิ์ ฯลฯ รวมทั้งนักศึกษากศน.ก็มาช่วยด้วยเช่นกัน สำหรับนักศึกษามสธ.ในต่างประเทศ จุดเริ่มต้นมาจากเมื่อครั้งที่ผมดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการแรงงานและสวัสดิการสังคม ผมได้จัดอบรมหัวหน้าสำนักงานแรงงานในต่างประเทศที่โรงแรมบางกอกพาเลส ประตูน้ำได้มีคณะอาจารย์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2-3 ท่าน มาปรึกษาว่าอยากจะจัดการเรียนการสอนให้คนไทยในต่างประเทศโดยเฉพาะแม่บ้านและแรงงานไทยในต่างประเทศ โดยจะขอความร่วมมือสำนักงานแรงงานไทยในต่างประเทศเป็นศูนย์ฯ ผมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์จึงจัดเวลาและอนุญาตให้อาจารย์มสธ.ได้พบปะและเชิญชวนหัวหน้าสำนักงานแรงงานฯโดยตรง ซึ่งต่อมาถ้าจำไม่ผิดสำนักงานแรงงานในฮ่องกงได้เป็นศูนย์มสธ.เป็นแห่งแรก และสิงคโปร์เป็นแห่งที่สอง


ผมได้รับทราบว่าในประเทศสิงคโปร์มีแหล่งชุมนุมของคนไทยโดยเฉพาะแรงงานไทยอยู่ที่ Golden Mile Complex มีร้านอาหารไทย ร้านค้าสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งแห้งทั้งสดจากเมืองไทย ร้านแลกเปลี่ยนเงินตราและส่งเงินกลับประเทศไทยและที่สำคัญเป็นแหล่งมั่วสุมดื่มสุรา ยาเสพติด ค้าประเวณี  การพนันและมีเรื่องวิวาทต่อยตีเป็นประจำ ผมจึงได้ไปดูและปรากฏข้อเท็จจริงตามที่ได้ยินมา นับแต่นั้นผมจึงกำหนดไว้ในใจว่า เป้าหมายหลักประการหนึ่งในการทำงานของผมก็คือ ต้องช่วยให้แรงงานไทยห่างพ้นจากอบายมุข มีความรู้ที่ถูกต้องเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตอยู่ในต่างแดน ได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วเมื่อประสบปัญหาความเดือดร้อน  ผมจึงหาเวลาไปเยี่ยมเยียนพูดคุยกับแรงงานไทยที่นี่เป็นประจำ ต่อมาผมได้รู้จักกับคุณ Henry Hsu ผู้บริหารของบริษัทขายโทรศัพท์มือถือและเครื่องมือสื่อสารรายใหญ่แห่งหนึ่งของสิงคโปร์เมื่อได้พูดคุยคุ้นเคยกันก็ได้รับแจ้งว่าเขารักคนไทยและอยากช่วยเหลือแรงงานไทยในสิงคโปร์หากมีอะไรที่เขาพอช่วยเหลือได้ก็ขอให้บอก ผมจึงบอกว่าปัญหาหลักของแรงงานไทยที่นี่ก็คืออบายมุขต่างๆทั้งสุรา ยาเสพติด การพนันฯลฯทำให้แรงงานเหล่านี้ทำงานหนักเท่าไรก็ไม่มีเงินเหลือส่งกลับบ้าน มิหนำซ้ำบางครั้งก่อเหตุวิวาททำร้ายร่างกายกันจนได้รับบาดเจ็บหรือถึงกับเสียชีวิต ต้องติดคุกติดตะรางและจุดเกิดเหตุก็คือที่โกลเด้นไมล์คอมเพล็กซ์นี่เอง แต่จะห้ามแรงงานไทยไม่ให้มาที่นี่ก็ไม่ได้เพราะเป็นแหล่งชุมนุมของคนไทยที่มาพบปะกันและมีทุกอย่างที่คนไทยที่นี่ต้องการ ดังนั้นผมจึงต้องการมาเปิดหน่วยย่อยของสำนักงานแรงงานฯที่นี่โดยจะสนับสนุนให้มีอาสาสมัครมาช่วยทำงาน คุณเฮนรี่จึงตกลงจะสนับสนุนโดยเช่าห้องที่โกลเด้นไมล์ฯให้ 1 ห้อง เป็นเวลา 1 ปี ตบแต่งให้เสร็จ พร้อมคอมพิวเตอร์และเครื่องแฟกซ์ รวมทั้งให้ชุดกลองยาว 4 ใบ ฆ้อง 1 ใบ แคน 1 ตัว เพื่อให้แรงงานได้ผ่อนคลายและรักษาวัฒนธรรมประเพณีไว้ ผมรู้สึกดีใจมากรีบกลับมาทำรายงานเสนอท่านทูต โดยขอตั้งชื่อเป็น สมาคมเพื่อนแรงงานไทย ( Friends of Thai Workers Association) วัตถุประสงค์ดังที่กล่าวมาแล้วคือต้องการให้มีอาสาสมัครภาคเอกชนมาทำงานร่วมกับสำนักงานแรงงานฯเพื่อช่วยเหลือแรงงานไทย ท่านทูตได้อนุมัติตามที่เสนอขอ  ในการนี้คุณเฮนรี่ได้เช่าห้องเลขที่  03-19  บนชั้นสามโกลเด้นไมล์คอมเพล็กซ์ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 1,300 เหรียญสิงคโปร์ และได้ตกแต่งห้องจนสวยงามพร้อมชุดกลองยาวตามที่บอกไว้ ยกเว้นเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องแฟกซ์ เมื่อห้องเช่าตบแต่งเสร็จเรียบร้อยแล้วพร้อมป้ายชื่อสมาคมฯ ผมจึงได้ทำหนังสือเรียนเชิญท่านทูตฐากูร พานิช พร้อมกับนิมนต์ท่านเจ้าคุณพระราชสิทธิวิเทศ(ยศในขณะนั้น) เจ้าอาวาสวัดอานันทเมตยาราม ประธานสมัชชาสงฆ์ไทยในประเทศสิงคโปร์ ทำพิธีเปิดสมาคมฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน 2547  ถือเป็นวันสถาปนาสมาคม



การดำเนินงานของสมาคมฯในช่วงแรก ผมได้จ้างแม่บ้านชาวไทยในสิงคโปร์มานั่งประจำอยู่ที่สมาคมฯเพื่อคอยรับเรื่องราวร้องทุกข์จากแรงงานไทยในสิงคโปร์ที่ประสบปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนในกรณีต่างๆ ที่ไม่สะดวกที่จะไปร้องเรียนที่สถานทูตหรือที่สำนักงานแรงงานไทยในสิงคโปร์ (สนร.) แล้ว ประสานเรื่องให้สนร.รับไปดำเนินการต่อ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่แรงงานไทย ในขณะเดียวกันทางชมรมนักศึกษา มสธ.ก็ได้มาอาศัยสถานที่เป็นแหล่งพบปะ ทำกิจกรรมต่างๆของชมรมรวมทั้งช่วยเหลือกิจการของสมาคมฯ และมีการฝึกซ้อมจัดตั้งเป็นคณะกลองยาวซึ่งต่อมาได้นำไปออกงานสถานทูตและรับงานแสดงเป็นรายได้ของชมรมมสธ.ด้วย ในระหว่างนั้น มีอยู่วันหนึ่งซึ่งเป็นวันอาทิตย์ขณะที่ผมนั่งพูดคุยอยู่กับแรงงานไทยที่สมาคมฯ มีชายไทยคนหนึ่งเดินเข้ามาในสมาคมฯพูดคุยกับแรงงานไทยบางคนและถ่ายรูปสมาคมฯ ผู้คนในสมาคมฯรวมทั้งผมด้วย ผมนึกในใจว่าคงเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยหรือตำรวจสันติบาลเข้ามาหาข่าวหรืออย่างไร แต่ก็ไม่ได้ทักท้วงหรือสอบถามเพราะถือว่าไม่ได้ทำผิดอะไร มาทราบภายหลังว่าบุคคลผู้นี้คือ ด็อกเตอร์พัฒนา กิติอาษา อาจารย์ที่NUS ซึ่งท่านสนใจศึกษาวิจัยชีวิตและชุมชนคนงานไทยในสิงคโปร์ด้วยความสนใจทางวิชาการและสนใจที่จะเข้าร่วมกิจกรรมอาสาสมัคร ต่อมาเมื่อได้รู้จักกันผมจึงได้ขอให้มาช่วยสอนภาษาอังกฤษที่สมาคมฯให้แรงงานไทยและแม่บ้านไทยที่สนใจโดยให้ค่าใช้จ่ายตอบแทนเป็นค่ารถแก่อาจารย์ซึ่งอาจารย์ก็ยินดี ประกอบกับมีชาวสิงคโปร์มาอาสารับสอนภาษาจีนด้วย จึงมีการสอนภาษาอังกฤษและภาษาจีนแก่แรงงานไทยที่สมาคมฯนับตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2547 เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆที่ดำเนินการโดยสมาคมฯ เช่น การจัดฉายหนังในวันอาทิตย์  การจัดมุมหนังสือ/ห้องสมุด การจัดนิทรรศการด้านสุขภาพ-กฎหมาย การประกาศข่าว-ประชาสัมพันธ์ต่างๆ การจัดตรวจสุขภาพประจำปี ฯลฯ  โดยเฉพาะการตรวจสุขภาพประจำปีต้องยอมรับว่าเป็นความคิดริเริ่มที่ดีของท่านทูตเฉลิมพล ทันจิตต์ ที่ได้ใช้งบประมาณของสถานทูตเชิญคณะแพทย์จากสภากาชาดไทยมาทำการตรวจสุขภาพและทำการรักษาเบื้องต้นแก่แรงงานไทยและคนไทยในประเทศสิงคโปร์เป็นครั้งแรกโดยใช้สถานที่ของสมาคมฯ และในปีต่อมาผมได้รับงานนี้มาดำเนินการต่อ นอกจากนี้ท่านทูตยังได้สนับสนุนการดำเนินงานของสมาคมอย่างดียิ่งทั้งการให้คำปรึกษาแนะนำและการสนับสนุนงบประมาณในบางครั้ง ซึ่งสมาคมฯและพี่น้องแรงงานก็ได้ตอบแทนท่านในงานของสถานทูตด้วยความเต็มใจและเต็มกำลังเช่นเดียวกัน



ดังที่กล่าวไว้ว่าผมต้องการให้การทำงานของสมาคมฯเป็นการทำงานของอาสาสมัครภาคเอกชนที่มาทำงานร่วมกับฝ่ายราชการ ผมจึงได้ขอให้คุณประภาศรี บุณยะโหตระ มาเป็นนายกสมาคมฯคนแรก ต่อมาได้คุณวิชัย สุมนัสขจรกุล เป็นนายกสมาคมฯคนที่สอง และคุณศุภลักษณ์ บัลเซอร์ คนปัจจุบันเป็นนายกสมาคมฯคนที่สาม การดำเนินงานของสมาคมฯเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเข้มแข็งมากขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งท่านทูตได้เคยแนะนำให้ขยายการดำเนินงานของสมาคมฯให้กว้างขวางขึ้นเป็นสมาคมคนไทยในสิงคโปร์และพี่ลุยงค์ คุณอักษร นายกสมาคมนักธุรกิจไทยในสิงคโปร์ที่ผมเคารพนับถือได้เสนอให้รวมทั้งสองสมาคมเข้าเป็นสมาคมเดียวกันซึ่งผมรู้สึกซาบซึ้งในความกรุณาของทั้งสองท่าน แต่ได้ตอบปฏิเสธไปเพราะเกรงว่าพวกแรงงานจะเกร็งและไม่กล้ามาร่วมทำงาน จึงเสนอกลับไปว่าขอให้เป็นการทำงานร่วมกันในฐานะสมาคมพี่สมาคมน้องดีกว่า นับเป็นเรื่องน่าชื่นชมมากที่คนไทยในต่างแดนร่วมมือร่วมใจกันทำงานและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ทอดทิ้งกัน ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมสนับสนุนการทำงานของสมาคมฯและผมรู้สึกภาคภูมิใจมากที่สมาคมได้ดำเนินงานมาอย่างเข้มแข็งจนถึงวันที่เขียนบทความนี้เป็นเวลากว่า 8 ปีแล้ว ยังจำได้ว่าในวันที่ผมต้องย้ายกลับประเทศไทย น้องๆหลายคนได้มาร้องไห้เกรงว่าผู้มาใหม่คนต่อๆไปจะไม่สนับสนุนการทำงานของสมาคมฯ ผมก็ได้แต่ปลอบใจไปว่าเขาเหล่านั้นคงเห็นความสำคัญและประโยชน์ของสมาคมฯและคงจะสนับสนุนการทำงานของสมาคมต่อไป  นอกจากนี้ผมได้ริเริ่มจัดฝึกอบรมอาสาสมัครเพื่อนแรงงานไทยในสิงคโปร์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 เพื่อเป็นกำลังช่วยปฏิบัติงานร่วมกับ สนร.และสมาคมฯ โดยได้จัดอบรมไป 3 รุ่นประมาณ 100 คนก่อนที่จะย้ายกลับประเทศไทย เมื่อวันที่18 มิถุนายน 2550 (ได้ยินว่าปัจจุบันอบรมไปแล้วรวม 8 รุ่น) รวมทั้งได้จัดทำจุลสารเพื่อนแรงงานไทยในสิงคโปร์ ฉบับปฐมฤกษ์ในเดือนมีนาคม 2547 แต่ทำได้เพียง 3 ฉบับก็ต้องยุติลงเนื่องจากมีภารกิจอื่นเพิ่มขึ้น แต่ก็น่ายินดีที่ได้ยินว่าขณะนี้สมาคมฯได้เริ่มกลับมาจัดทำอีกครั้งหนึ่ง ขอแสดงความยินดีด้วย



ผมอยากบอกว่าตลอดระยะเวลารับราชการประมาณ 36 ปี ที่ได้ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและพี่น้องแรงงาน ผมรู้สึกว่าสนุกและเป็นสุขใจกับการทำงานอย่างน้อยสองแห่ง แห่งแรกคือที่จังหวัดตราดที่ผมไปดำรงตำแหน่งประชาสงเคราะห์จังหวัดตราดเมื่อปี 2531-2535 ได้ทำงานร่วมกับอาสาสมัครประชาสงเคราะห์ที่นั่นซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีฐานะที่มาร่วมกับทางราชการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส  ที่นี่ผมได้ตั้งศูนย์บริการชุมชนวัดไผ่ล้อมขึ้นเพื่อให้บริการแก่คนในชุมชนใกล้เคียง  แห่งที่สองคือที่ประเทศสิงคโปร์ที่ผมได้นำความรู้และประสบการณ์มาจัดตั้งสมาคมเพื่อนแรงงานไทยกับได้อบรมและจัดตั้งอาสาสมัครเพื่อนแรงงานไทยในสิงคโปร์  โดยผมได้ร่วมทำงานและได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งทั้งจากผู้มีฐานะ ทั้งจากแม่บ้านไทยที่นั่น หรือแม้แต่แรงงานไทยที่ไม่ยอมงอมืองอเท้ารอรับความช่วยเหลือฝ่ายเดียวแต่กลับมาร่วมทำงานเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือเสียเองนับเป็นเรื่องน่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่งและจะประทับอยู่ในใจผมไปอีกนานเท่านาน แม้ผมจะเกษียณอายุราชการมาแล้ว แต่ก็ได้ติดตามการทำงานของสมาคมด้วยความห่วงใยตลอดมา และรู้สึกชื่นใจที่มีอาสาสมัครมารับช่วงทำงานต่อด้วยความเข้มแข็งและขยายขอบข่ายงานของสมาคมให้กว้างขวางยิ่งขึ้นเป็นประโยชน์แก่แรงงานและคนไทยที่นั่น จนได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนช่วยประคับประคองและทุ่มเททำงานด้วยความเสียสละจนบรรลุวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งสมาคมฯมาอย่างยาวนาน


 
                                                                              สมทวี  ก่อพัฒนาศิลป์
 
                                                                                   6  มิถุนายน 2555
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น