Friends of Thai Workers Association

Friends of Thai Workers Association Supported By Office of Thai Labour Affairs in Singapore

วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553

บันทึกจากโกลเด้นไมล์

บันทึกจากโกลเด้นไมล์

โดย พัฒนา กิติอาษา

ผมเดินทางมาถึงสิงคโปร์วันที่ 4 มกราคม 2547 เพื่อมารับทุนศึกษาวิจัยหลังปริญญาเอก (postdoctoral fellowship) ที่สถาบันวิจัยแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ตลอดชีวิตการทำงานทั้งสอนหนังสือและวิจัยที่เมืองไทย ผมไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับสิงคโปร์หรือแรงงานไทยในประเทศสิงคโปร์มาก่อน ชีวิตการทำงานของผมหักเหเมื่อผมตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเมื่อปลายปี 2546 ผมใฝ่ฝันอยากทำงานวิชาการในวงวิชาการระดับนานาชาติ แต่ก็ไม่นึกไม่ฝันว่าชีวิตวิชาการของตนเองจะต้องมาเริ่มต้นที่สิงคโปร์ หรือต้องมาคลุกคลีตีโมงอยู่กับพี่น้องแรงงานไทบ้านอีสาน คนบ้านเดียวกัน และพี่น้องคนไทยจากภาคอื่นๆ ของประเทศ ผมตัดสินใจเรียบเรียงบันทึกสนามของนักเรียนมานุษยวิทยาของตนเองบางส่วน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวชีวิตคนไทยที่ผมได้สัมผัสในการทำงานปีแรกที่สิงคโปร์ เมื่อราวกลางปี 2547 ผมเริ่มงานอาสาสอนภาษาอังกฤษให้กับคนงานไทยที่สมาคมเพื่อนแรงงานไทยในสิงคโปร์ ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ชั้น 3 ของอาคารโกลเด้นไมล์ จากนั้นก็อาสาช่วยงานของสำนักงานแรงงานไทยในสิงคโปร์และสถานเอกอัครราชทูตไทยตามวาระโอกาสต่างๆ เรื่อยมา

งานอาสาสมัครค่อยๆ กลายมาเป็นส่วนสำคัญของชีวิตการทำงานของผมควบคู่กับงานประจำที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ผมตัดสินใจศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชุมชนแรงงานไทยในสิงคโปร์อย่างจริงจังในปี 2548 ผมคิดว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรมากมายจากบทเรียนและประสบการณ์ชีวิตของพี่น้องแรงงานไทยในสิงคโปร์ ผมเป็นหนี้บุญคุณกับบรรดาพี่น้องแรงงานที่เป็นผู้ให้ข้อมูลอย่างละเอียดลึกซึ้ง โกลเด้นไมล์และชุมชนคนไทยที่ผมรู้จักช่วยให้ชีวิตการทำงานในต่างแดนของผมไม่แปลกแยกหรือน่าเบื่อจนเกินไป ช่วงเวลากว่า 6 ปีในสิงคโปร์ ผมและครอบครัวของผมมีญาติพี่น้องและมิตรสหายทั้งที่เป็นแรงงานและแม่บ้านไทยในสิงคโปร์มากหน้าหลายตา ญาติมิตรและพี่น้องเหล่านี้ล้วนแต่มีความหมายอย่างลึกซึ้งต่อหน้าที่การทำงานและชีวิตไกลบ้านของเรา

ในเรื่องเล่าจากสมุดบันทึกสนาม ผมต้องการจะแบ่งปันกับผู้อ่านว่า ช่วงปีแรกในสิงคโปร์ ผมได้เรียนรู้อะไรและอย่างไรจากพี่น้องคนไทย อะไรคือเงื่อนไขและแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมรู้จักกับคนไทยไกลบ้านจำนวนหนึ่งและเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตอันมีค่าของพวกเขาและเธอเหล่านั้น ผมตัดสินใจตั้งชื่อข้อเขียนบทนี้ว่า บันทึกจากโกลเด้นไมล์ เพื่อรำลึกถึงสถานที่ในความทรงจำ ซึ่งเป็นศูนย์กลางอย่างไม่เป็นทางการของชุมชนไทยไกลบ้านในประเทศสิงคโปร์ สำหรับคนไทยในสิงคโปร์แล้ว ไม่มีใครไม่รู้จัก โกลเด้นไมล์ แต่ที่แตกต่างกันก็คือ ไม่มีใครรู้จักชีวิตหลากมิติที่มีอันต้องมารวมตัวกันชั่วคราวภายใต้ชายคาของโกลเด้นไมล์ได้ครบถ้วนทุกแง่มุม บันทึกบทนี้จะนำเสนอเรื่องเล่าจากโกลเด้นไมล์ในบางแง่บางมุมที่ผมได้มีโอกาสสัมผัสและเรียนรู้มา ขอให้ผู้อ่านเข้าใจว่า บันทึกนี้เป็นภาพตัวแทนของโกลเด้นไมล์ในสายตาของนักเรียนมานุษยวิทยาคนหนึ่งที่แอบเฝ้ามองและติดตามศึกษาพี่น้องเพื่อนร่วมชาติและร่วมวัฒนธรรมเดียวกับตัวเองอย่างเงียบๆ ในช่วงปลายทศวรรษที่ 2540

ที่โต๊ะรับลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง

(12 กันยายน 2547)

ในยามว่างที่สิงคโปร์ ผมสอนภาษาอังกฤษพื้นฐานให้กับคนงานไทย บ่ายวันอาทิตย์เป็นช่วงเวลาที่ผมตั้งใจเอาไว้ว่าจะไปสังเกตการณ์ที่โกลเด้นไมล์ ผมออกจากบ้านตรงไปที่อาคารโกลเด้นไมล์ แหล่งรวมสรรพบันเทิงและชีวิตนอกเวลาทำงานของคนงานไทยในสิงคโปร์ตั้งแต่เวลาก่อนเที่ยง อาคารช้อปปิ้งมอลล์แห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็น ลิตเติ้ลไทยแลนด์ หรือ ลิตเติ้ลแบ็งค์ค็อก ในสายตาของคนสิงคโปร์หรือคนต่างชาติในประเทศนี้ ผมเดินข้ามสะพานของถนนบีชโร้ด (Beach Road) ตรงเข้าไปที่ชั้น 2 ของอาคารทันที ผู้คนมาจับจ่ายใช้สอย ดื่มกิน และพบปะพูดคุยที่อาคารแห่งนี้เหมือนเคย ทุกวันอาทิตย์ ชีวิตของโกลเด้นไมล์โลดแล่นอย่างเต็มที่ ยิ่งวันอาทิตย์ไหนตรงกับวันที่คนงานส่วนใหญ่ได้รับเงินค่าแรง วงจรธุรกิจในโกลเด้นไมล์ยิ่งคึกคักเป็นพิเศษ ผู้คนพลุกพล่านมากมายเป็นพิเศษ

ในช่วงรณรงค์ให้คนไทยในสิงคโปร์ไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2547 สถานเอกอัครราชทูตไทยในสิงคโปร์เปิดโต๊ะรับลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งที่ชั้น 3 ของอาคารโกลเด้นไมล์ ผมพบกับนพพลอาสาสมัครคนไทยทำงานที่โต๊ะรับลงทะเบียนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ผมถามนพพลว่า คนงานมาลงทะเบียนเยอะไหม เขาตอบว่ายังไม่เยอะเลย คาดว่าน่าจะไม่เกิน 3,000 คน ปีที่แล้วทั้งสิงคโปร์มาเลือกตั้งแค่พันกว่าคน ว่าแล้วนพพลก็ไปหยิบข้อมูลชิ้นหนึ่งในตะกร้าของคุณเจี๊ยบเจ้าหน้าที่สถานกงสุลออกมาให้ เป็นกระดาษ 2 แผ่นเย็บติดกัน เขียนว่า ข้อมูลการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร (16 สิงหาคม 2547) ตัวเลขการเลือกตั้งของคนงานไทยในสิงคโปร์เมื่อครั้งที่แล้ว (มกราคม 2544) ก็คือ มีคนงานไทยในสิงคโปร์ทั้งหมด 45,550 คน มีผู้มาลงทะเบียนเพียง 1,792 คน (3.93%) เท่านั้น ตัวเลขน้อยมาก ทางราชการเลยตั้งใจว่าจะเพิ่มตัวเลขเหล่านั้นโดยการตั้งโต๊ะรับลงทะเบียนที่อาคารโกลเด้นไมล์ในวันอาทิตย์

ทางราชการตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มตัวเลขเหล่านั้นโดยการตั้งโต๊ะรับลงทะเบียน แล้วก็ใช้อาสาสมัคร เช่น กลุ่มน้องๆ ที่สมาคมเพื่อนแรงงานไทย เป็นกำลังสำคัญในการเข้าถึงคนงานผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผมเพิ่งรู้วันนี้เองว่า ทางราชการเขาจ้างงานพวกอาสาสมัครที่รับลงทะเบียนตามโต๊ะด้วย ผมเห็นคนงานผู้ชาย 4-5 คนนั่งตามโต๊ะกับนพพล เจี๊ยบ และแจง ทางสถานทูตไทยจ้างวันละ 25 เหรียญสิงคโปร์ ส่วนน้องๆ อาสาสมัครที่สมาคมฯ จำนวน 12 คน รับใบรับลงทะเบียนไปคนละ 100 ชุด เขาให้เงินชุดละ 50 เซ็นต์ ผมถึงเข้าใจวันนี้เองว่า ทำไมน้องๆ ทุกคนต่างก็ตั้งอกตั้งใจหาคนมาลงทะเบียนให้ได้มากๆ วิชัยคนขับรถแม็คโครจากอุดรธานีบอกผมว่า แผ่นละ 50 เซ็นต์กะบ่น้อยได๋ คันเฮ็ดได้เหมิดนี้กะได้ตั้ง 50 เหรียญ ผมเฮ็ดงานเหมิดมื้อยังได้แค่ 32 เหรียญ รวมกับค่าโออีกกะได้แค่ 47 เหรียญ รายได้ที่วิชัยออกมานับว่าสูงกว่าคนงานก่อสร้างทั่วไปมาก เพื่อนเขาส่วนใหญ่จะได้ค่าแรงแค่วันละ 23-25 เหรียญต่อวันเท่านั้น งานของวิชัยถือว่าเป็นงานที่ต้องอาศัยทักษะฝีมือและความรู้ความชำนาญพิเศษ เท่าที่ผ่านมาผมยังไม่เคยเจอคนงานที่มีทักษะเหมือนวิชัยมากนัก ดูเขาตั้งใจทำงาน เก็บเงิน แล้วส่งเงินกลับไปช่วยทางบ้านเป็นพิเศษ รวมทั้งหารายได้เพิ่มเติมจากกิจกรรมอาสาสมัครนี้ด้วย แต่เขาก็มีอัธยาศัยไมตรีดี สนุกสนานเฮฮา ร่วมกิจกรรมกับสมาคม และก็เรียน กศน. ต่อด้วย ตอนนี้เรียนชั้นมัธยมแล้วด้วย

ที่สมาคมเพื่อนแรงงานไทยสิงคโปร์

(19 กันยายน 2547)

วันนี้พุทธทาส อาสาสมัครแรงงานที่นั่งประจำที่สมาคมฯ บอกว่านุชกลับบ้านที่เมืองไทย ไปทำธุระ ไม่ได้มาที่ทำงาน แต่คนอื่นๆ ก็มาชุมนุมอยู่ที่สมาคมฯ ตามเคย น้องผู้หญิงชื่อ น้ำ คนที่เรียน กศน. กับวิชัย ก็พาสามีที่เป็นวิศวกรบริษัท Nokia ชาวฟินแลนด์มาด้วย น้ำเล่าให้ฟังว่า สามีเรียนจบปริญญาโท เก่งคณิตศาสตร์มาก เขาเคยสอนวิชาเลขให้น้ำ อธิบายเป็นภาษาอังกฤษ แต่ไปๆ มาๆ ก็ทะเลาะกัน น้ำบอกว่า รู้ว่าตัวเองโง่กว่าเขา แต่มันก็อดไม่ได้ มีเรื่องงอน มีเรื่องทะเลาะกันเรื่อยๆ วันนี้น้ำและเพื่อนมาช่วยกันทำงานอาสาสมัครรับแจกแบบฟอร์มให้คนงานไทยมาลงชื่อเพื่อไปใช้สิทธิเลือกตั้งกับเพื่อนๆ

ผมพบกับอ้ายสนธยา คนอำเภอโซ่พิสัย หนองคาย มาร้องเรียนว่าถูกนายหน้าเอเย่นต์จัดหางานคนสิงคโปร์หลอกเข้ามาทำงาน ตกลงกันไว้ว่าไม่ขอทำงาน ร่องกาว หรือขุดและวางท่อระบายน้ำ เพราะมันหนักเกินไป ทำไม่ไหว เคยลองมาแล้ว อดทนมากที่สุดได้แค่ 2 ปี บอกว่าขอเป็นงานก่อสร้างอย่างอื่น มันก็บอกว่าไม่ใช่งานขุดร่องกลาง สอบถามตนแน่ใจแล้ว จึงตกลงกู้เงินดอกจากเพื่อนบ้านมาจ่ายค่าหัว หรือค่านายหน้า 37,000 บาท แต่พอเข้ามาแล้วให้มาทำงานร่องกลาง ซึ่งแย่กว่าเดิม เถ้าแก่ก็ขี้เหนียวกว่าเดิม งานหนักกว่าเดิม เลยตัดสินใจจะมาขอเงินคืน แต่นายหน้าไม่ยอมมาพบหน้าเลย ปิดบริษัทเงียบเลย โทรมาก็ไม่รับสาย บริษัทมันอยู่ที่ ชั้น 6 อาคารโกลเด้นไมล์นี่แหละ ผมโมโหมาก เอกสารอะไรมันก็ยึดไว้หมดแล้ว ไม่รู้จะทำยังไง จะมาขอให้ทางการช่วยเหลือ น้องคนที่ทำงานเป็นอาสาสมัครติดต่อกับสำนักงานแรงงานก็รับเรื่องร้องเรียนไว้ พร้อมกับเตรียมเอกสารที่จำเป็นให้ ไปติดต่อกับสำนักงานแรงงานไทยในวันจันทร์ จากนั้นก็นั่งคุยกัน มีหลายคนที่มานั่งรวมกัน เช่น มานิตย์หรือสมคิด เจริญ สนธยา พุทธ แล้วก็ผม ทุกคนเล่าเรื่องราวชีวิตคนงานไทยต่างแดนให้ฟัง ทุกคนมีประสบการณ์ตรงในการเร่ร่อนทำงานมาหลายประเทศ ส่วนใหญ่เคยผ่านงานที่ไต้หวันมาก่อน รวมทั้งประสบการณ์ขมขื่นที่สิงคโปร์

คนงานอีสานจำนวนมากอาศัยการรถทัวร์ปรับอากาศเส้นทางอีสาน-กรุงเทพฯ-หาดใหญ่-สิงคโปร์ ทันทีที่ออกจากบ้านเกิดมา บรรดาคนงานทั้งหลาย ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว พวกเขากำลังกระโจนเข้าสู่โรงละครชีวิตในบทที่ตัวเองแสดงเป็นตัวละครที่ต่ำต้อยที่สุด ตกอยู่ในภาวะที่เสี่ยงกับภัยอันตรายทุกชนิดจากผู้คนรอบข้าง โลกนอกหมู่บ้านช่างเต็มไปด้วยผู้คนที่จ้องมองพวกเขาในฐานะ เหยื่อ คนอีสานหัวอ่อน หลอกง่าย ต้มง่าย พูดอะไรก็เชื่อไปหมด หน้าตาซื่อๆ ใครๆ ก็จ้องแต่จะเอารัดเอาเปรียบ ตั้งแต่นายหน้า เอเย่นต์จัดหางาน ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง พอลงรถไฟหรือรถทัวร์ที่หาดใหญ่ พวกคนขับสองแถว คนขับสามล้อต่างก็เข้ามารุม เพราะคนเหล่านี้เป็นสายต่อกับบริษัทที่รับจัดทัวร์เข้าประเทศสิงคโปร์ อ้ายสนธยาบอกว่า ที่หาดใหญ่นะ มัน (คนขับสามล้อ) เข้ามาแย่งกระเป๋าเราเลย มันเห็นใครที่มีด้ายผูกแขน หน้าตาเด๋อๆ ด๋าๆ มาจากอีสาน มันเข้ามาเลย ให้ไปกับมัน มันขู่ด้วยซ้ำ ขู่เอาเงิน ขู่สารพัดว่าจะต้องไปกับบริษัททัวร์ของมัน พวกไกด์ทัวร์ก็ตัวร้าย เรียกเอาเงินจากเรา ขายตั๋วโก่งราคายังไม่พอ พอนั่งรถถึงกลางทางมันก็บอกว่า จะต้องเสียเงินค่าโน่นค่านี่อีก ใครไม่ให้มัน มันก็ตามมารังควานหาเรื่องอยู่นั่นแหละ จนเรารำคาญ ผมเคยเจอมาแล้ว

นอกจากอ้ายสนธยาคนหนองคายบ้านเดียวกันแล้ว ผมยังได้คุยกับอีกหลายคนที่สมาคมเพื่อนแรงงานไทย อ้ายเจริญจากอุดรธานีเป็นคนขยันเรียนหนังสือ ปีนี้แกเรียนจวนจะจบชั้น ป. 6 แล้ว แกบอกว่าอยากจะเรียนภาษาอังกฤษด้วย อ้ายเจริญบอกว่ามาทำงานที่สิงคโปร์เป็นปีที่ 7 แล้วทำงานกับบริษัทรับเหมาทั่วไป เถ้าแก่เช่าบ้านให้อยู่ ชั้นล่างเขาขายของ เราก็อยู่ชั้นบน มี 2 ห้องนอน ห้องหนึ่งเป็นของแขกเขาอยู่กัน 5 คน อีกห้องหนึ่งเราคนไทยก็อยู่ด้วยกัน 4 คน มีเตียงนอน 4 ตัว พวกคนงานไทยทุกคนต้องทำกับข้าวกินเอง บางวันก็ผลัดเวรกันทำ ที่ทำงาน/ไซท์งานไม่ไกลจากที่พัก กลับไปกินข้าวที่บ้านได้ อาหารเช้าก็หาอะไรกินรองท้อง ไม่กินหนักตอนเช้า แต่กินหนักตอนเที่ยง ทำกับข้าวกินกัน แล้วก็นอนพัก 30 นาที ก่อนเริ่มงานอีกตอนบ่ายโมง เลิกงานราวทุ่มหนึ่งก็หาบะหมี่ หามาม่าต้มกินรองท้องกันไปก่อน แล้วไปทำงานล่วงเวลาต่อจนถึง 4 ทุ่ม พอเลิกมาก็ทำอาหารมื้อใหญ่กินกัน เสร็จกว่าจะเข้านอนได้ก็คงตกราวเที่ยงคืน ที่พักคนงานของอ้ายเจริญอยู่ด้วยกัน 4 คน ซื้อข้าวเหนียวกระสอบใหญ่ กระสอบละ 50 กก. ราคา 44 เหรียญ กินกันทั้งเดือน อาหารก็ทำเองมีพวกเนื้อวัว หมู ไก่ ปลา อาหารทะเล อยากจะกินอะไรก็ซื้อมาทำกินกันเอง เรียกว่า บ่อดบ่อยากดอก กินดีกว่าที่เมืองไทยอีก

อ้ายเจริญเป็นคนใจบุญสุนทาน แกชอบจัดกิจกรรมทอดผ้าป่าเพื่อหาเงินไปสมทบกองบุญผ้าป่าที่บ้านเกิดเป็นประจำ บางครั้งก็ช่วยจัดให้กับเพื่อนคนงานที่มาจากบ้านข้างเคียงด้วย แกบอกว่า ซ่อยเขาหาเงิน เฮ็ดบุญเฮ็ดทานไปซั้นล่ะ สร้างศาลาวัด หอกลอง ห้องสมุด ซื้อคอมพิวเตอร์ ได้เงินเถื่อละ 40,000-50,000 บาท กะไปซ่อยสมทบกับทางบ้านไปนำ ฮ่วย...ปีหน้าผมของจองโตอาจารย์เด้อ ผมสิให้อาจารย์ไปเป็นประธานทอดผ้าป่านำกัน คือสิได้บุญหลาย... ผ้าป่าแรงงานเป็นประเด็นสำคัญ ทั้งในเชิงวิชาการและในเชิงวัฒนธรรมของกองทัพผู้ใช้แรงงานพลัดถิ่นจากประเทศไทย ผ้าป่าแรงงานเป็นกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมที่สำคัญมากของบรรดาคนงานไทยในสิงคโปร์ คนงานเกือบทั้งหมดต่างก็มีโอกาสเข้าร่วมทำบุญผ้าป่า ทั้งในฐานะกรรมการจัดผ้าป่าและผู้บริจาคเงินทำบุญในซองเพื่อช่วยเหลือหรือตอบแทนเพื่อนคนงานที่แจกซองผ้าป่า อย่างน้อยผ้าป่าก็คือ การส่งเงินกลับบ้าน (remittance) รูปแบบหนึ่ง เป็นการส่งเงินกลับบ้านเพื่อกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ของชุมชนโดยอาศัยช่องทางของพุทธศาสนาและความร่วมมือร่วมใจระหว่างชุมชนต้นทางและปลายทาง ผ้าป่าช่วยเชื่อมโยงจินตนาการของคนไกลบ้านให้เข้ากับพื้นถิ่นพื้นฐานที่ตัวเองจากมา ผ้าป่าช่วยสื่อแทนใจของคนพลัดถิ่นทั้งชายและหญิงว่า พวกเขาและพวกเธอยังผูกพันกับท้องถิ่นที่อยู่ทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม ในห้วงคิดคำนึง สุรชัย หนุ่มวัยล่วงเบญจเพศมาไม่กี่ปีจากสุรินทร์บอกกับผมว่า ทุกครั้งที่ส่งเงินกลับบ้าน ทั้งที่เป็นเงินค่าแรงส่งให้พ่อแม่ และฝากเงินผ้าป่าไปช่วยงานบุญที่บ้านเกิด ผมภูมิใจหลาย การส่งเงินเมือบ้านเป็นความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตของลูกผู้ชายอย่างผม... เงินบ่หลายดอก แต่มันกะเป็นน้ำพักน้ำแฮงบริสุทธิ์...

บริษัทนายหน้าจัดหางาน

(26 กันยายน 2547)

ผมมีโอกาสได้คุยกับน้องๆ ผู้หญิง 2 คนที่สำนักจัดหางานแห่งหนึ่งในโกลเด้นไมล์ น้องผู้หญิงที่ชื่อ ขนิษฐา ทำงานที่นี่ประมาณ 1 ปีกว่าแล้ว ดูท่าทางคล่องและเชี่ยวชาญในการพูดคุยติดต่อกับคนงานอีสานมากเป็นพิเศษ ขนิษฐาให้นามบัตรมาด้วย เธอบอกว่าเดิมทำงานที่สำนักจัดหางานส่งคนงานไปต่างประเทศที่อุดรธานี แล้วย้ายมาทำงานที่นี่ พอผมถามถึงนายจ้าง เธอบอกว่า บอสเป็นคนสิงคโปร์ ปกติก็เข้าสำนักงานทุกวัน แต่ช่วงที่ผมแวะเข้าไป บอสออกไปธุระ ขนิษฐาบอกว่า คนงานไทยเกือบทั้งหมดทำงานก่อสร้าง นายจ้างเขามีงานก็จะติดต่อมาทางเรา เราก็ประกาศรับสมัครงานให้ งานช่วงนี้ที่เข้ามามากที่สุดก็คือ งานวางท่อและวางรางรถไฟ สิงคโปร์กำลังทำโครงการใหญ่เพื่อขุดท่อระบายน้ำใต้ดินให้รอบเกาะ ค่านายหน้าขาดตัวอยู่ที่ 38,000 บาท เงินจำนวนนี้รับประกันว่าคนงานจะต้องได้งานและมีรายได้ เธอบอกว่า ค่านายหน้าในราคานี้ถูกกว่าที่ติดต่อมาจากเมืองไทยมาก ส่วนใหญ่ถ้าคนงานเดินเรื่องมาจากเมืองไทยจะต้องเสียเงินประมาณ 100,000 บาท คนงานที่มาติดต่อก็คือ คนที่เข้ามาสิงคโปร์แล้ว ทั้งที่ต้องการหางานใหม่ เปลี่ยนงาน หรือตกงาน คนงานที่รู้ช่องทางนี้เกือบทั้งหมดเป็นคนที่มีประสบการณ์ทำงานที่นี่แล้ว รู้จักวิธีการเดินทางเข้าออก และช่องทางการหางานที่สิงคโปร์แล้ว ขนิษฐาบอกว่า เคยมีปัญหากับคนงานหลายครั้ง เพราะคนงานไม่เข้าใจระบบ เข้ากับนายจ้างไม่ได้ นายจ้างผิดสัญญาไม่จ่ายเงินค่าจ้างตามที่ตกลงไว้ ทางเราก็ต้องรับหน้าเสื่อติดต่อเคลียร์ให้ บางครั้งก็ยุ่งยากเหมือนกัน

ขนิษฐาบอกว่า เธอมีหน้าที่ติดต่อรับงานมาอย่างเดียว ที่บริษัทเธอมีคนแผนกอื่นที่จะช่วยเดินเรื่องขอใบอนุญาตทำงาน และติดต่อกับนายจ้างอีกต่อหนึ่ง คนแผนกอื่นที่เป็นคนสิงคโปร์เธอไม่ค่อยรู้ นามบัตรของขนิษฐาระบุว่า ต้นสังกัดของบริษัทเธออยู่ที่อุดรธานี ชื่อบริษัทสุดใจ เพื่อนร่วมงานของเธออีกคนหนึ่ง ชื่ออ้อย บอกว่าเพิ่งมาทำงานได้ไม่กี่วัน แต่อยู่สิงคโปร์มานานกว่า 10 ปีแล้ว บอกว่าอยู่สิงคโปร์ได้ก็ต้องมีเงิน แต่ละวันลืมตาตื่นขึ้นมาก็เป็นเงินเป็นทองหมด ใครมีเงินน้อยหรือได้งานไม่ดีอยู่ไม่รอดหรอก ประเทศนี้อะไรก็ต้องหาเงินหาทองกันอย่างเดียว เคยกลับบ้านที่กรุงเทพฯ รถติดก็ให้คิดถึงสิงคโปร์ เขามีการควบคุมรถรา มีรถไฟ รถเมล์สะดวกดี แต่บ้านเราก็สบายๆ อาหารการกินก็เยอแยะ ราคาถูกๆ จะกินอะไร มันก็ดีกันคนละแบบ

ตอนที่นั่งคุยกันอยู่นั้น มีคนงานจากอีสานคนหนึ่งเข้ามาติดต่อ เขาบอกว่ายังไม่ได้งาน อยากได้งานที่ดี ไม่อยากได้งานประเภทขุดร่องกลางหรือวางท่อ แต่ไม่มีเงินมาก ขนิษฐาเรียกคนนั้นว่า ฉลวย ท่าทางคุ้นกันดี เพราะเคยเข้ามาติดต่องานหลายครั้งแล้ว ฉลวยบอกว่า “เงินไม่ค่อยมี แต่มีเมียหนึ่งลูกสองรออยู่ทางบ้าน” ขนิษฐาถามไปเลยว่า “มีที่นาหรือเปล่า ถ้ามีนาก็ขายนามาเลย เอาเงินมาอย่างน้อย 38,000 บาท ไม่ยังงั้นไม่มีงานให้ทำ ตอนทำงานแล้ว ถ้าฉลวยเก็บเงินไม่ได้ก็เอาเงินมานี่ จะจัดการให้” ตกตอนเย็นราว 5 โมง อ้ายเจริญซึ่งเป็นคนอุดรธานีกำลังเรียน กศน. และภาษาอังกฤษกับผมมาถึง แกกำลังรับปากจะช่วยหางานให้เพื่อนคนงานที่มาจากหมู่บ้านใกล้เคียงกัน อ้ายเจริญกำลังติดต่องานให้เพื่อนบ้านคนนั้นที่ต้องการหางานให้ญาติของตัวเอง อ้ายเจริญให้ข้อมูลว่าบริษัทที่ตั้งอยู่ในโกลเด้นไมล์เก็บค่านายหน้าต่างกันมาก แต่อยู่ระหว่าง 34,000-42,000 บาท เราต้องระมัดระวังให้มากในการติดต่อกับพวกนายหน้า

สวนมะพร้าว

(1 สิงหาคม 2547)

ห่างจากอาคารโกลเด้นไมล์แค่ถนนกั้นกลางเป็นที่ตั้งของสวนสาธารณะแห่งหนึ่งที่มีชื่อเป็นทางการว่า สวนสาธารณะริมน้ำกัลลัง (Kallang Riverside Park) ภายในสวนสาธารณะแห่งนี้ ทางการสิงคโปร์ปลูกต้นสน มะพร้าว และไม้ยืนต้นชนิดต่างๆ อย่างร่มรื่น รวมทั้งตกแต่งดูแลสนามหญ้าริมแม่น้ำอย่างสวยงาม สวนสาธารณะแห่งนี้เป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของคนงานไทยยามวันหยุดโดยเฉพาะช่วงบ่ายวันอาทิตย์และบรรดาแม่ค้าขาจรที่นำอาหาร เครื่องดื่ม สุรา น้ำอัดลม ขนม ของขบเคี้ยว ส้มตำ และเนื้อน้ำตกของโปรดมาขายให้กับคนงานที่มาพักผ่อน การลักลอบค้าขายเช่นนี้ผิดกฎหมายสิงคโปร์ บรรดาแม่ค้าแม่ขายก็ต้องระมัดระวังตัว ต้องหูไวตาไว รวมทั้งต้องทำตัวสนิทสนมกับคนงานทั้งหลายให้แนบเนียนประหนึ่งว่า พวกเขาและเธอนัดกันมาปิคนิกด้วยกัน กินข้าวนอกสถานที่ด้วยกัน บรรดาคนไทยพลัดถิ่นเปลี่ยนชื่อสวนสาธารณะแห่งนี้เสียใหม่ เรียกง่ายๆ ว่า สวนมะพร้าว หรือ สวนหมากพ้าว แล้วแต่กรณี

ผมได้เรียนรู้และสัมผัสชีวิตคนไทยพลัดถิ่นอย่างลึกซึ้งที่สวนมะพร้าว ผมพบกับพี่ดา สาวแม่ค้าจากนครพนม พี่ยอด แฟนพี่ดาจากถิ่นเดียวกัน แม่ค้าข้ามแดนคนอื่นๆ รวมทั้งไก่ นักรบแรงงานเจ้าสำราญจากเมืองขอนแก่นและเพื่อนๆ ของเขาอีกหลายคน พี่ดาเป็นหนึ่งในบรรดาแม่ค้าข้ามแดนที่ชุมชนคนงานไทยในสิงคโปร์เรียกว่า เซียนจ้อบ เพราะว่าเข้ามาสิงคโปร์ช่วงสั้นๆ แล้ว จ้อบเข้า จ้อบออก เป็นกิจวัตร คำว่า จ้อบ มีที่มา 2 ทางคือมาจากคำว่า “job” หรืองานในภาษาอังกฤษ และคำว่า “chop” (ช้อป) หมายถึงการประทับลงตราวีซ่าของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองด่านต่างๆ คนไทยในสิงคโปร์ใช้คำนี้ในความหมายของการเข้ามาหางานทำระยะสั้นตามอายุวีซ่าผ่านแดนชั่วคราวที่ทางการสิงคโปร์กำหนดให้ เซียนจ้อบคือผู้เชี่ยวชาญในการเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซียและสิงคโปร์โดยอาศัยวีซ่าเข้าเมืองระยะสั้น เซียนจ้อบไม่ได้จำกัดเฉพาะแม่ค้า แต่อาจหมายถึง พระเก๊ แม่ชีปลอม คนหางานผิดกฎหมาย เซียนพนัน ผู้หญิงขายบริการทางเพศ ฯลฯ เมื่อเข้าออกข้ามแดนบ่อยจนช่ำชองเส้นทางและรู้แหล่งทำมาหากิน พวกเขาและเธอจึงกลายมาเป็น เซียน โดยปริยาย

พี่ดาคนขายเหล้าและกับแกล้มเล่าเรื่องที่เธอถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสิงคโปร์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดจากประเทศไทยตรวจค้นยาบ้าเธอเมื่อปี 2546 อย่างขมขื่น เธอบอกว่า เธอถูกเพื่อนขายของด้วยกันเป็นสายให้ตำรวจ ถูกตรวจค้นอยู่ครึ่งวัน ถูกบังคับให้ถอดเสื้อผ้าออกหมดเพื่อตรวจค้นดูว่าได้ซุกซ่อนยาบ้าไว้ที่ส่วนไหนของร่างกายหรือไม่ เธอถูกกระทำสารพัด จนบางครั้ง เธอรู้สึกว่าคนสิงคโปร์ทำกับแรงงานต่างชาติโดยเฉพาะคนไทยเหมือนไม่ใช่คนด้วยกัน เอารัดเอาเปรียบสารพัด พี่ยอด แฟนพี่ดาเล่าเรื่องปัญหาของคนงานไทยในสิงคโปร์ ยาเสพติด โสเภณี นายจ้างกลั่นแกล้ง รวมทั้งพฤติกรรมเอารัดเอาเปรียบของคนไทยด้วยกัน พี่ยอดบอกว่า สิงคโปร์เป็นนรกของคนยากคนจน...อาจารย์มาเบิ่งเอาโลด มีเหมิดสู่อย่าง คนที่เฮ็ดสารพัดอย่างเพื่อเอาตัวรอด คนไทยอยู่สิงคโปร์ มันบ่ฮักกัน เอารัดอาเปรียบกัน กินเหล้าเมาแล้วตีกัน ฆ่าฟันกันย้อนยาดผู้หญิงกะมี มันบ่ฮักกันคือพวกอยู่เกาหลี ไต้หวัน หรือตะวันออกกลาง ย้อนมันอยู่ใกล้บ้านโพด... ลางเถื่อ เห็นพวกผู้หญิงหากินแล้วกะน่าสมเพทเวทนาเขา มีสารพัด ลางคนอายุแค่สิบกว่า ยี่สิบกะมี ถืกหลอกมากะมี ติดแท็ค (สัญญาผูกมัดมาจากคำว่า “contract”) อยู่กะหลาย

ผู้หญิงที่พี่ยอดพูดถึงคือ ผู้หญิงขายบริการทางเพศ ซึ่งเดินทางข้ามแดนจากหาดใหญ่มาขายบริการทางเพศระยะสั้นในมาเลเซียและสิงคโปร์ พี่ยอดบอกว่า ตามแฟลตคนงานอยู่แถวบูนเลย์ (Boon Lay) รัฐบาลสิงคโปร์สร้างให้คนงานต่างชาติอยู่ มีสารพัด ไทย จีน บังคลาเทศ ฯลฯ มี 6 หลังๆ ละ 6 ชั้น แออัดกันอยู่ มีประมาณ 5,000-6,000 คนได้ ตอนกลางคืนจะมีหญิงโสเภณีจากเมืองไทยไปเปิดขายบริการทางเพศ หลายโพด ลางเถื่อมีเป็น 100 คน หลายเจ้าเอาเข้ามา อัตราค่าบริการครั้งละ 20 เหรียญ พวกอยู่แถวนั้นกะไปปักเต้นท์เขียวกลางเดิ่น เก็บค่าเปอร์เซ็นต์ร้อยละ 20 มันกะได้หลาย บางเถื่อกะมีคนเข้าฮอด 20 คนกะมี พวกแม่หญิงไทยเขาบ่มักผู้ชายไทยดอก เรื่องมาก กินเหล้าเมา เอาโดน (ใช้เวลาในการปฏิบัติกามกิจนานเกินไป) บางคนฝังมุก เหลี่ยมหลาย เขามักแขกบังคลาเทศ กลิ่นโตแฮง แต่เขาบ่สน มันเสร็จไว แล้วไว บ่หลายเรื่อง มันเป็นธุรกิจ ผมหว่าตำรวจสิงคโปร์เขากะเหมื่อยคือกัน ผู้หญิงไทยที่ลักลอบเข้ามาขายบริการทางเพศ ยิ่งจับยิ่งเพิ่ม จับ 10 คน มื้อหลังเข้ามาอีกเป็น 20-30 คน มาจากเมืองไทยทั้งนั้น มีเหมิดทุกภาคเอาโลด เหนือ อีสาน กลางหลาย ตอนนี้มีแต่เว้าลาวใส่กัน บ่ต้องเว้าไทยกลางเลย ขณะที่ผมนั่งคุยกับพี่ยอดนั้น เจ้าไก่ หนุ่มเหล้าขาวจากอำเภอหนองเรือ ขอนแก่นบอกผมว่า ถ้ามีเวลาจะพาอาจารย์ไปเลาะเบิ่งพวกคนไทยที่หนีแท็คอยู่นำป่ากะมี หากินอยู่ตามแค้มป์คนงานกะมีหลายหม่องโพด อาจารย์สิไปเบิ่งไหวบ่...

ผมลองให้ไก่ประมาณดูจำนวนแม่ค้าที่มาขายของแบบพี่ดากับพี่ริน เพราะว่าไก่คุ้นเคยและคลุกคลีตีโมงเป็นลูกค้าของพี่หญิงมาหลายปี ไก่บอกว่า น่าจะมีมากกว่า 50 คน แต่จะให้รู้จำนวนที่แน่นอนไม่ได้ เพราะไม่เคยนับและการเข้าออกของแม่ค้าก็ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าจะขอวีซ่าผ่านแดนที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองสิงคโปร์หรือไม่ แม้ว่าแต่ละคนจะมีแต่หน้าเดิมๆ ก็ตาม ตอนคุยกันสองคน ไก่เล่าให้ผมฟังเกี่ยวกับแม่ค้ากลุ่มนี้เพิ่มเติมว่า แม่ค้าพวกนี้นะ หน้ามึนกว่าพวกเข้ามาขายหีเสียอีก (ผู้หญิงขายบริการทางเพศ) เพราะพวกนี้มีเล่ห์เหลี่ยมพอตัว มีเทคนิควิธีการขายที่พวกคนงานผู้ชายจะปฏิเสธไม่ได้ เช่น ขายเงินเชื่อ ขายแบบเอามาเปิดสำรับนั่งกินกับเราไปเลย บางคนก็มานั่งใกล้ๆ เบียดเนื้อตัว จับมือถือแขน เอานมเอาหน้าอกมาเบียดเรา บางทีก็ขอเงินทิปดื้อๆ เราเป็นผู้ชายจะปฏิเสธก็กระไรอยู่ มันเสียเหลี่ยมผู้ชาย อีกอย่างพวกนี้มันขายทั้ง 2 อย่างคือ ขายของกับขายหีด้วย อาจารย์บอกชื่อมาเลย คนที่อาจารย์รู้จัก ผมเคยสี้มาแล้วทั้งนั้น เกือบทุกคน ถ้ามีเงินและสนใจเรียกมาคุยตกลงราคากันได้เลย ค่าตัวอยู่ที่ 50 เหรียญต่อชั่วโมง พากันนั่งแท็กซี่ไปตามโรงแรมใกล้ๆ แถวโกลเด้นนี่แหละ บางคนบอกว่าถ้าเฮ็ดเก่งสิได้เบิ้ลฟรีอีกรอบ บางคนบอกว่าไปหม่วนนำกันบ่ต้องเสียเงิน บางคนก็ฮอดบอกเฮาหว่า คันเฮ็ดบ่หม่วนถืกตีนเด้อ...

ผมถามไก่ตรงๆ ว่า ทำไมผู้หญิงกลุ่มนี้ถึงทำได้ขนาดนี้ ผมดูแล้วแต่ละคนเก่งมาก ช่ำชอง มีประสบการณ์ และเล่ห์เหลี่ยมทันคนพอตัวทุกคน ไก่ก็ตอบตรงๆ ว่า ถ้าไม่แน่จริง เขาไม่กล้ามาหากินไกลถึงสิงคโปร์ พวกแม่ค้าเหล่านี้ทำไปเพราะไม่มีเงิน ยากจน อยากได้เงินต้องทำทุกอย่าง แต่ผมแย้งว่า อยู่บ้านเราก็ไม่มีเงินเหมือนกัน กลุ่มแม่ค้าพวกนี้ล้วนแต่เป็นแม่บ้านแต่งงานแล้ว พวกเขาไม่ทำกันขนาดนี้ ไก่ก็ตอบว่า ที่บ้านเรามันทำไม่ได้ ไม่มีใครสนใจใช้บริการผู้หญิงกลุ่มนี้หรอก แม่บ้านนะไม่ใช่สาวโสดเอ๊าะๆ ใครจะมอง ดูแต่ละคนได้เลย บางคนก็อ้วน บางคนก็พุงพลุ้ย บางคนก็แก่แล้วอายุมากแล้ว ก็คงมีพวกคนงานหนุ่มใหญ่เมียเผลอ ไกลลูกไกลเมียอย่างที่นี่เท่านั้นที่สนใจบริการทางเพศแบบนี้ อีกอย่างที่บ้านเรานะ ใครทำอะไรแบบนี้ ชาวบ้านเขาก็เอาไปนินทากันตาย อับอายขายหน้า อยู่ร่วมหมู่บ้านกันไม่ได้หรอก

ผมสนใจธุรกิจของกลุ่มแม่ค้าข้ามแดนกลุ่มนี้ เลยขอให้ไก่เล่าเรื่องธุรกิจเหล่านี้ให้ฟัง ไก่บอกว่าที่เราเห็นขายส้มตำ ขายกับแกล้ม ขายผลไม้ เป็นเพียงที่มีมูลค่าน้อยมาก เมื่อกับเทียบกับธุรกิจอย่างอื่น ยกตัวอย่าง พี่ดา คนนี้ไก่เรียกว่า แม่ดา ผมไม่แน่ใจว่าเพราะพี่ดาอายุคราวแม่ของไก่หรือเพราะไก่พูดที่เล่นที่จริงว่าจะขอจองลูกสาวแก พี่ดามีธุรกิจหลายอย่าง ว่าแล้วไก่ก็แจกแจงให้ฟัง

อย่างแรก ปล่อยเงินกู้ให้กับคนงานที่ต้องการเงินด่วนในอัตราร้อยละ 20 ต่อเดือน อันนี้ไม่ได้มีแต่แม่ลินดาคนเดียวที่ทำ ร้านหลายแห่งในอาคารโกลเด้นไมล์ก็ทำกันทั้งนั้น บางเจ้าปล่อยกู้ในอัตราร้อยละ 30 ด้วยซ้ำ เจ้าหนี้เงินกู้เหล่านี้มีวิธีการที่เด็ดขาดในการควบคุมลูกหนี้ ก่อนปล่อยเงินเขาจะต้องยึดเอาสมุดเงินฝากธนาคาร บัตรเอทีเอ็มพร้อมกับรหัสผ่านไว้เป็นหลักประกัน เขารู้ว่าบริษัทที่สิงคโปร์จะจ่ายเงินให้กับคนงานผ่านธนาคาร เราเบี้ยวเขาไม่ได้แน่ๆ เรายืมเขามาเท่าไร เขาก็ไปกดเอาเงินเท่านั้น พร้อมกับดอกเบี้ย จากนั้นก็จะเอาสลิปเงินมาโชว์ให้พวกเราดูด้วย บางเจ้าก็อาศัยคนที่สนิทสนมไว้ใจได้ค้ำประกันให้ แต่บางเจ้าก็มีมาเฟียคอยคุ้มครอง มีคนคอยติดตามทวงหนี้ด้วย เหมือนอย่างที่เมืองไทยเลย ไก่บอกว่าคนอย่างแม่ดา พี่สายใจ หรือยายนันทนามีวงเงินที่ปล่อยกู้ที่นี่ระหว่าง 10,000-20,000 เหรียญสิงคโปร์ รายได้แบบนี้ได้ดีกว่ากำไรที่ได้จากการขายของเยอะมากเลย

ตัวไก่เองเขาก็เล่าให้ผมฟังอย่างหมดเปลือกว่า เขาเป็นลูกค้าของแม่ดามานานกว่า 2 ปีแล้ว เขาบอกว่า ก็อย่างที่อาจารย์เห็น ผมกิน เที่ยว เล่น เงินไม่เคยเหลือเลย แต่ผมก็ต้องการเงินส่งทางบ้านทุกเดือน เมื่อเงินขาดมือผมก็ไปเอาจากแม่ดา อย่างวันนี้ผมก็ไปเอามา 100 เหรียญ พอเอาเงินมาปุ๊บเขาก็เอาเหล้าเอากับแกล้มมาเปิดวางเลย ทุกคนมาร่วมวงกันกินทั้งเพื่อนคนงานด้วยกันและแม่ค้าบางคนที่สนิทสนมกัน ผมก็ต้องจ่าย ตอนที่ผมมาเจอลุงสุนันท์และกลุ่มคนจากหนองเรือด้วยกัน ผมก็ซื้อเหล้าเลี้ยง ตอนนี้เงินผมเหลือ 20 เหรียญ พอได้แต่ค่ารถกลับแค้มป์คนงานเท่านั้นเอง ผมบอกอาจารย์ตรงๆ ว่า บัตรเอทีเอ็มไม่ได้อยู่กับผมมานาน 2 ปีแล้ว อยู่กับแม่ดาโน่น ตอนนี้ผมเป็นหนี้อยู่ประมาณ 1,200 เหรียญ ผมทำงานทั้งเดือนก็ไม่ได้เงินขนาดนี้ เมื่อผมต้องการเงินสดส่งทางบ้าน ผมก็ต้องไปเอากับแม่ดาก่อน พอสิ้นเดือนเขาก็มาหักจากเอทีเอ็มผมไปเลย ตัดไปเลย พอผมพาผู้หญิงแม่ค้าในกลุ่มของแม่ดาไปนอนด้วย เขาก็ไปหักเอาเงินจากบัตรเอทีเอ็มผมด้วย บวกค่าดอกเบี้ยไปด้วย มันก็วนเวียนอยู่อย่างนี้ ผมก็ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร พอวันอาทิตย์ที่ไรผมก็ออกมากินเหล้าเมาทุกที ผมก็อยากจะเลิกเหมือนกันแต่ก็ทำไม่ได้

อย่างที่สอง แม่ค้าบางคนพาผู้หญิงขายบริการทางเพศเข้ามาด้วย จริงๆ ก็คือ พากันมาเที่ยวมาทำงานด้วยกัน แต่คนที่ไม่เคยมาสิงคโปร์เลยย่อมต้องการคนนำทาง ต้องการคนที่รู้เส้นสายช่องทางทำมาหากิน เช่น ติดต่อกับผู้ชายยังไง เดินทางไปกลับยังไง โรงแรมอยู่ที่ไหน เป็นต้น ผู้หญิงที่เข้ามาเขาเป็นมืออาชีพอยู่แล้ว เขารู้ว่าเขามาทำอะไรและจะต้องเจออะไรบ้าง คนพวกนี้ถ้ามีพาสปอร์ตมีเอกสารการเดินทางถูกต้องก็เข้ามาได้ทั้งนั้น เข้ามาท่องเที่ยว เขาให้อยู่ได้ 14 วัน เท่านี้ก็พอจะหาเงินได้มากแล้ว พวกที่อาจารย์เห็นนั่งๆ อยู่แถวใกล้ๆ แม่ดา แต่ไม่ได้ขายของนั่น ใช่เลย ผมเคยลองมาแล้วทั้งนั้น เจ้าไก่บอกผมยิ้มๆ แบบภูมิใจในตัวเองลึกๆ

อย่างที่สาม แม่ค้านำเอาสินค้าต้องห้ามบางอย่างติดตัวเข้ามาขายด้วย เช่น บุหรี่หรือเหล้าจากเมืองไทย มันผิดกฎหมายของที่นี่ แต่เขาก็อนุญาตถ้าเอาเข้ามาจำนวนไม่มาก หรือเขามีวิธีการหลบซ่อนเข้ามา อันนี้เราไม่รู้ บางทีผมก็เคยเจอเหล้าแดงจากบ้านเรา แต่ผสมอะไรก็ไม่รู้ กินแล้วมันเมาแบบผมต้องอ้วกเลย เหล้าขาวก็เหมือนกัน คิดว่าตอนนี้ยาบ้าคงไม่มีแล้ว กฎหมายที่นี่รุนแรงมาก คงไม่มีใครทำอย่างน้อยก็ในกลุ่มที่ผมรู้

อย่างที่สี่ ขายสินค้าทั่วไป เช่น ส้มตำ ลูกชิ้นทอด ขนม ของขบเคี้ยว ของกับแกล้ม จิ้งหรีดหรือแมงจินูนคั่ว ตัวดักแด้ไหมคั่ว ผลไม้ตามฤดูกาล ฯลฯ ของพวกนี้แม่ค้าแต่ละคนก็ตระเวนขายกันตามจุดและทำเลต่างๆ ของตนเอง หลายคนก็ขายตามใต้ถุนแฟลต บางคนก็ขายตามสวนมะพร้าว

อย่างที่ห้า แม่ค้าสาวๆ บางคนก็เสนอขายบริการทางเพศด้วย ไก่บอกว่า แทบทุกคนที่เข้ามาทำงานแบบนี้สามารถติดต่อได้ทั้งนั้น ค่าตัวแบบชั่วคราวก็ 50 เหรียญต่อครั้งต่อชั่วโมง ไม่รวมค่าโรงแรมและค่าถุงยางอนามัย เราต้องจ่ายเพิ่มเติมเอง ถ้าออฟแบบค้างคืนไปนอนข้างนอกก็ต้องจ่าย 200 เหรียญ หรือแล้วแต่จะตกลงกัน บางคู่ก็รักกันชอบกันเป็นแฟนกันจริงๆ ก็มี ผมจำได้ว่าครั้งหนึ่งน้องจ๋าที่มากับกลุ่มแม่ลินดาเคยบอกผมว่า ถึงหนูจะมาสำมะเลเทเมา มาทำตัวแบบนี้ แต่หนูจะไม่ยอมให้ลูกสาวรู้หรือมาเห็นสภาพของตัวเองแบบนี้ อยู่สิงคโปร์หนูกินเหล้าเมายา สูบบุหรี่ จับมือถือแขนกับผู้ชาย แต่อยู่เมืองไทยหนูก็เป็นแม่ที่ดี เป็นคนดี จะมาทำตัวแบบนี้ไม่ได้

ตะลุยเกย์ลังกับไก่

(12 กันยายน 2547)

ผมขอย้อนกลับมาเล่าเรื่องของไก่ เพื่อนคนงานที่ช่วยให้ผมได้เรียนรู้ชีวิตนอกเวลางานของบรรดาหนุ่มคนงานที่ชื่นชอบชีวิตกลางคืน ไก่เป็นเด็กหนุ่มจากอำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ทำงานอยู่ที่โรงงานพลาสติกแห่งหนึ่งใกล้กับสนามบินชางฮี ไก่เรียนหนังสือจบชั้น ป. 6 จากโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ไก่เล่าให้ผมฟังว่า ครอบครัวผมยากจนมาก ไม่มีเงินเรียนต่อ มาสิงคโปร์ได้ก็ต้องกู้หนี้ยืมสินจากพี่น้อง ต้องเสียเงินไปทั้งหมด 200,000 บาท มาสิงคโปร์ได้ 2 ปีแล้ว แต่ไม่ค่อยมีเงินส่งกลับบ้านเพราะมัวแต่กินเหล้าเมายา แล้วก็เอาเงินไปเที่ยวสาวหมด ไก่เอาใบอนุญาตทำงาน ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า ใบเวิร์ค (work permit) ให้ผมดู เห็นบอกว่าเข้ามาสิงคโปร์ตั้งแต่ ปี 2001 อาชีพคนงานก่อสร้าง (construction worker) ตอนเดินเรื่องมาทำงานในสิงคโปร์ต้องผ่านขั้นตอนซับซ้อนมาก ไก่บอกว่า ผมต้องไปเรียนที่ศูนย์ทดสอบฝีมือแรงงานที่คลอง 4 ปทุมธานีเป็นเวลา 1 เดือน เสียเงินค่าเรียน 10,000 บาท เขาให้เรียนเป็นช่างไม้ช่างปูน เทแบบก่อสร้างเสา คาน มีคนงานไปเรียนด้วยกันหลายคน มีเอเย่นต์จากประเทศสิงคโปร์เดินทางไปสอบคัดเลือกเอาเลย ถ้าใครสอบไม่ผ่านก็ไม่ได้มาสิงคโปร์ เงินค่าเรียนก็จะเสียให้เขาไปกินฟรีๆ ไก่เรียนและผ่านการทดสอบเป็นช่างไม้ แต่ไม่เคยทำงานช่างไม้เลย ได้มาทำงานคุมเครื่องจักรที่โรงงานพลาสติกในสิงคโปร์แทน

ผมถามไก่ว่า เคยส่งเงินกลับบ้านไหม แล้วหนี้สินทางบ้านจวนจะหมดหรือยัง ไก่ก็เล่าให้ฟังอย่างตรงไปตรงมาว่า ไม่ได้ส่งเงินกลับบ้านไปให้พ่อแม่มาร่วมปีแล้ว เดือนที่แล้วส่งไปแค่ 300 เหรียญ เป็นเงินไทยก็ประมาณ 7,000 กว่าบาท หนี้สินไม่ต้องพูดถึง อาศัยว่าผมได้เวิร์ค (หมายถึงใบอนุญาตทำงาน) หลายปี ค่อยๆ ทำไป ตั้งใจว่าปีหน้าจะใช้หนี้ให้หมด มันจะหมดหนี้ได้อย่างไร ก็อย่างที่อาจารย์เห็นผมนี่แหละ ผมกินเหล้า วันนี้ 3 ขวดแล้ว เหล้าแดงกลมละ 28 เหรียญ แต่ผมเซ็นไว้ แม่ค้าก็คิดขึ้นราคาเป็นกลมละ 35 เหรียญ กับแกล้ม ส้มตำ เนื้อแห้งทอด หรืออะไรทั้งหลายผมก็ซื้อ ตกลงแต่ละเดือนผมใช้เงินกินเหล้าประมาณ 500 เหรียญเข้าไปแล้ว นี่ยังไม่นับที่เวลาผมมีไปนั่งกินตามร้านอาหาร ต้องให้ทิปเด็กเสิร์ฟหรือสาวๆ ที่มานั่งด้วย นั่นก็หลายตังค์ วันนี้ผมก็ไม่มีเงิน เพราะเงินเดือนที่ทำงานยังไม่ออก แต่ผมไปเอาจากแม่ดามาแล้ว 100 เหรียญ ผมบอกว่าสิเอามาคืนตอนสิ้นเดือน เขาคิดดอกเบี้ยร้อยละ 20 ผมต้องเอามาคืนทั้งดอกทั้งต้นรวม 120 เหรียญ

ค่ำวันนั้น ผมวางแผนกับไก่ว่าจะไปนั่งกินเบียร์ที่ร้านศรีมหาสารคามแถวเกย์ลัง ไก่บอกผมอย่างเปิดอกแบบผู้ชายว่า ผมต้องไปนอนนำผู้หญิงเดือนละหลายคน เสียเงินหลายอยู่ พวกผู้หญิงที่ไปเร่ขายแบบ สี้เซ็น อยู่นำแคมป์คนงานกะเถื่อละ 20 เหรียญ คันพวกแม่ค้าหรือผู้สาวแถวโกลเด้นไมล์กะเถื่อละ 50 เหรียญขึ้นไป แล้วแต่สิตกลงกันได้ แต่คันเป็นพวกผู้หญิงต่างชาติที่มาหากินแถวเกย์ลัง ราคากะแตกต่างกันไป พวกฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หรือไทยกะบ่ค่อยแพงปานได๋ 35-40 เหรียญ รวมค่าห้องในโตเสร็จสรรพ ขึ้นห้องประมาณ 1 ชั่วโมง พวกแขกกะบ่ค่อยแพง บ่เกิน 50 เหรียญ แต่พวกสาวไชน่าขาวๆ หมวยๆ กะแพงอาจถึง 80-100 เหรียญ ไก่อวดศักดาความเป็นชายที่เขาภาคภูมิใจว่า คันเว้าแล้วเดี๋ยวสิหาว่า ผมคุยโม้ อาจารย์สิบ่เซื่อผม ผมมาอยู่สิงคโปร์ผมสี้ผู้หญิงมาแล้วบ่ต่ำกว่า 200 คน ผมเอาอยู่เรื่อย เอาทุกรูปแบบ ผู้หญิงไปเร่ตามแคมป์ ตามป่า ผมกะเอา ผู้สาวแถวโกลเด้นไมล์ผมกะเอา ผู้สาวตามร้านอาหารผมกะเอา สาวต่างชาติแถวเกย์ลัง ผมกะเอา เหล้ายาผมกะกิน เงินผมกะบ่ค่อยเหลือ มันเป็นจั่งซี่ละอาจารย์

ระหว่างที่ผมนั่งอยู่กับกลุ่มของไก่และพี่ท่วง ผมเริ่มจะคุ้นเคยกับภาษาของกลุ่มคนงานไทย รวมทั้งบรรดาที่แม่ค้า หรือสาวๆ ที่เข้ามาสิงคโปร์ด้วยวีซ่าระยะสั้น คำพูดต่างๆ ของเธอตรงไปตรงมามาก เช่น สี้กันบ่ ไปขี้ก่อนเด้อ โอย...ปวดขี้แล้ว อยากหารถถีบไปขี้เด้ คันมึงปวดเหยี่ยวกะไปบังพุ่มไม้เยี่ยวโลด ทุกคนดูพูดกันซื่อๆ ตรงๆ และเป็นอะไรแบบไทบ้านอีสานยามหม่วนชื่นสุดขีด เป็นตัวของตัวเองดีแท้ ผมได้เรียนรู้ศัพท์ใหม่ๆ จากหลายคนที่ผมคุยด้วย เช่น เวลาหนุ่มสาวตกลงราคาต่อรองธุรกิจว่าจะซื้อขายบริการทางเพศกันเรียบร้อยก็บอกว่า อ้ายไปอาบน้ำกับข้อยบ่ ไปอาบน้ำ แปลว่า ไปร่วมเพศกันที่โรงแรมตามราคาและเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ หลังกิจกรรมทางเพศเสร็จแล้วก็จะอาบน้ำอาบท่ากัน โดยมาจากโกลเด้นไมล์ไปไม่ไกลจะมีโรงแรมคล้ายๆ ม่านรูดที่ให้บริการเป็นรายชั่วโมง นั่งแท็กซี่ไปราคาประมาณ 3-4 เหรียญ ส่วนคำว่า ฆ่าหรือ ฆ่าของ แปลว่า พาผู้หญิงไปนอนด้วย ในที่นี้ตัวผู้หญิงขายบริการก็คือ ของ หรืออวัยวะเพศของผู้หญิง

พี่ยอด พี่ลินดา ไก่ และอีกหลายคนที่ผมเคยนั่งคุยด้วยเล่าถึงความเข้มงวดของกฎหมายสิงคโปร์ ขณะเดียวกันก็เปิดเผยถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของสิงคโปร์ ตำรวจสิงคโปร์มันร้ายมาก จับได้มันไม่ปรานีไม่ว่าหญิงหรือชาย ถ้าคนไทยไปทำผิดกับคนสิงคโปร์ เราโดนแน่ มันตามมาเอาเราตายแน่ แต่ถ้าคนไทยทะเลาะกัน ฆ่ากันตาย หรือปล้นชิงอะไรกัน มันไม่สนใจหรอก... ถ้าไม่หนักหนาสาหัสจริงมันจะไม่เข้ามายุ่งด้วยเลย ไก่บอกว่า ตึกใหญ่ตรงทางขึ้นสถานีรถไฟลาเวนเดอร์ (อาคารสำนักงานของ Immigration and Checkpoints Authority) ตรงห้องใต้ดินจะเป็นคุกคุมขังคน ผมเคยเข้าไปมาแล้ว เข้าไปเยี่ยมเพื่อนคนไทย ติดคุกเพราะถูกกล่าวหาว่ากระชากสร้อยของสาวที่ทำงานอยู่ในร้านค้าในโกลเด้นไมล์ แต่มันบอกว่ามันไม่ได้ทำ มันแค่ตบหน้า เพราะมีเรื่องทะเลาะกัน โดนขังคุกประมาณเดือนหนึ่ง พวกแม่ค้านี้สังเกตได้เลย คนไหนที่ตัดผมสั้น แสดงว่าติดคุกมาแล้ว เข้าคุกมาแล้ว ทางเรือนจำสิงคโปร์เขาไม่ให้ผู้ต้องขังผู้หญิงไว้ผมยาว เขาจะจับกร้อนผมให้หมด

ที่ร้านศรีมหาสารคาม ผมเห็นลูกค้าส่วนใหญ่เป็นหนุ่มใหญ่วัยกลางคนขึ้นไป มานั่งกินเบียร์ กินเหล้า มีทั้งที่เป็นคนงานไทย และคนสิงคโปร์เชื้อสายจีน ไม่นานก็มีสาวๆ มาชวนคนเหล่านี้ไปอาบน้ำถ้าลูกค้าสนใจใครก็สามารถเรียกบ๋อยหรือพนักงานเสิร์ฟทั้งชาย-หญิงได้เลย ชีวิตราตรีของย่านเกย์ลังเริ่มขึ้นตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ตกดิน สาวๆ ทั้งหมวยจีน ไทยแลนด์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หรือแขกศรีลังกาและอินเดีย เริ่มออกมาหาลูกค้า หลายคนเข้ามานั่งที่ร้านศรีมหาสารคามแห่งนี้ เจ้าไก่มันเป็นลูกค้าประจำของร้าน มันทักทายเด็กเสิร์ฟ ทักทายหลายคน รวมทั้งขอจับมือ ขอหอมแก้มสาวๆ หลายคน ในจำนวนนี้ก็มีสาวจากอีสานหลายคน แต่งตัวยั่วยวน ใส่เสื้อผ้ารัดๆ โชว์หน้าอก หรือร่องอกเว้าลึกเพื่อเรียกร้องความสนใจจากบรรดาผู้ชายที่มาเที่ยว พอผมกินข้าวเสร็จแล้ว ผมขอให้ไก่นั่งเฝ้าโต๊ะของเราไว้ ผมออกไปเดินเลาะดู ตามซอยต่างๆ จากซอย 2-4-6-8-10-12 ผมมาตระเวนย่านเกลังย์เป็นครั้งแรก ผมจึงตื่นตาตื่นใจระคนกับตกใจเพราะไม่เคยนึกมาก่อนว่า สิงคโปร์เมืองเนรมิต (บุญเสริม ฤทธาภิรมย์ 2536) ที่ผมเคยอ่านหรือดินแดนที่มีชื่อเสียงเรื่องความสะอาด ระเบียบวินัย หรือความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ การค้า การศึกษา การเงิน และเทคโนโลยีที่ใครต่อใครยกย่องชื่นชม แท้ที่จริง แล้ว สิงคโปร์ก็มีชีวิตกลางคืนที่หวือหวาไม่แพ้ที่ใดในโลกเหมือนกัน

ไก่ถามหา แฟน ขาประจำซึ่งทำงานเป็นสาวเสิร์ฟที่นี่ ไก่เรียกเธอว่า เจ๊ ท่าทางสนิทสนมกันมาก พอเจ๊ว่างจากการเสิร์ฟโต๊ะอื่นก็มานั่งที่โต๊ะเดียวกับเรา ไก่ก็ขอจับมือ ขอหอมแก้มเลย ไก่บอกว่า คิดถึงเจ๊จังเลย เจ๊ก็อ้อนไก่น่าดูว่า ทำไมไม่มาตั้งแต่เมื่อคืน...คิดถึงรู้มั๊ย เจ๊เธอใส่กางเกงยีนส์รัดๆ สวมเสื้อยืดสีเขียวสะท้อนแสงไฟ ผิวขาว หน้ารูปไข่ ผมสั้นประบ่า จมูกโด่ง ขนตายาว ท่าทางของเธอตามสมัยนิยม น่าจะเป็นสาวเมืองกรุงจากประเทศไทยแต่ผมก็ไม่อาจจะเดาได้ เธออ้อนให้ไก่สั่งเบียร์ไทเกอร์อีกหนึ่งขวด ที่จริงเบียร์ราคาแค่ขวดละ 6 เหรียญ แต่ไก่จ่ายไป 10 เหรียญ เจ๊สาวเสิร์ฟเธอก็ไม่ทอนตังค์ที่เหลือให้ แต่เป็นอันรู้กันว่า 4 เหรียญที่เหลือนั้นเป็นค่าที่ไก่หอมแก้มเธอ และค่าที่เธอมาลงทุนมานั่งออดอ้อนขอทิปอยู่ด้วย ไก่บอกว่า เธอทำงานเลิกตอนเช้า ผมไม่รอเธอหรอกคืนนี้

เด็กเสิร์ฟน้องผู้หญิงอีกคนหนึ่งใส่เสื้อยืดสีแดงรัดรูป นุ่งกางเกงยีนส์รัดๆ มานั่งคุยกับพวกเรา ท่าทางเธอใสๆ มาก อายุน่าจะอยู่ระหว่าง 17-18 ปี มานั่งคุยกับไก่และโซ่อย่างสนิทสนม น้องคนนี้บอกหนุ่มๆ ตรงเลยว่า กินเบียร์ไม่เป็น มันขม ถ้าจะให้กินก็ต้องจ้าง จ่ายมาเลย 2 เหรียญ ไก่บอกผมภายหลังว่า สาวๆ ไทยไม่ว่าที่ไหนมีวิธีการหาเงินจากพวกผู้ชายสารพัด เขาไม่ต้องทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำเหมือนกับผู้ชาย แม่ค้า เด็กเสิร์ฟ สาวขายบริการทางเพศต่างก็หาเงินได้ง่ายๆ ทั้งนั้น สาวๆ ในร้านแถวโกลเด้นไมล์ขอกันตรงๆ เลย ถ้าเราสั่งเบียร์มา เขามานั่งด้วย เรายึดเงินทอนเราไปทันทีเลย บางครั้งอาจจะเป็น 20-30 เหรียญก็มี เขาก็อ้อนเอาตรงๆ ขอทิปให้น้องไม่ได้หรือ เฮาเป็นผู้ชาย เขากล้าขอ เฮากะต้องกล้าให้ คันบ่ให้เฮากะเสียเหลี่ยมผู้ชายเหมิดแล้ว... นี่ละ...บ่ให้เงินผมเหมิดมันสิไปไส...ผีเสื้อราตรีหรือสาวๆ คนหากินกลางคืนนานาชาติออกมายืนเรียงแถวอยู่ตามหน้าตึก หน้าโรงแรม ยืนเมียงมอง บางคนก็เสนอหน้าพูดคุยเรียกแขกกับบรรดาหนุ่มน้อยใหญ่ที่เดินผ่านไปมา ตามถนน ตามตรอกซอกซอยต่างๆ ที่มาเดินสำรวจมีนับเป็นร้อยๆ ชีวิต กลุ่มผู้ชายก็เดินเลือกหาเลือกซื้อ บรรยากาศเหมือนกับตลาดเนื้อสดยังไงพิกล ตลาดค้าหญิงสาวดีๆ นี้เอง สาวๆ เหล่านี้มาจากไหน ผมไม่รู้ที่มาที่ไปอย่างชัดเจน รู้แต่ว่าสาวจีนแผ่นดินใหญ่ หน้าตาหมวยๆ ขาวๆ มีจำนวนมากเป็นอันดับหนึ่ง และได้รับความนิยมอย่างมาก รองๆ ลงมาก็จะเป็นไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดียหรือแขกจากเอเชียใต้ ส่วนที่มีน้อยเห็นจะเป็นสาวฝรั่งผมบลอนด์ คาดว่าน่าจะมาจากรัสเซียหรือประเทศหลังม่านเหล็กในอดีต ไก่และรอสโซ่ เด็กเสิร์ฟที่ร้านบอกว่า แต่ละคนแต่ละกลุ่มจะมีเอเย่นต์พาเข้ามาทำงาน มีแมงดาหรือคนคุมยืนอยู่ด้านหลัง ทำหน้าที่ทั้งคอยเชียร์แขกและคอยให้ความคุ้มครองแก่พวกสาวๆ ผมเดาเอาว่า สาวๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่อายุไม่น่าจะเกิน 20 ปี หน้าตาใสๆ น่ารัก แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าทันสมัย รัดรูป เปิดเผยสัดส่วนของตัวเองอย่างชัดเจน ตอนหลังที่ผมย้อนกลับมาเดินดูตามซอยต่างๆ พร้อมกับไก่ และมีโอกาสเข้าไปถามทักทายหลายคน บางคนก็จับมือ คว้าข้อมือของเรา พลางส่งสายตาออดอ้อนชวนขึ้นห้องด้วย ผมถามสาวฟิลิปปินส์คนหนึ่ง เธอบอกว่า ขอ 40 ดอลล่าร์ รวมค่าห้องและรวมทุกอย่างในเวลาหนึ่งชั่วโมง สาวอินโดนีเซียคนที่ถูกตาต้องใจเจ้าไก่มากเป็นพิเศษคิดค่าบริการ 40 เหรียญเหมือนกัน เจ้าไก่ขอให้ผมช่วยต่อรองราคาให้เหลือ 35 เหรียญ เธอรีบบอกว่า “Can…Can” โดยใช้สำนวนภาษา สิงค์ลิช หรือภาษาอังกฤษแบบสิงคโปร์ทันที เจ้าไก่บอกว่า รอก่อนนะน้อง... เดี๋ยวพี่จะกลับมาขึ้นห้องด้วย

วงเหล้า คนงานพลัดถิ่น และเสียงพึมพำคร่ำครวญ

(12 กันยายน 2547)

ความโชคดีอย่างหนึ่งในการศึกษาภาคสนามของนักเรียนมานุษยวิทยาในท่ามกลางผู้คนที่มาจากถิ่นฐานและวัฒนธรรมเดียวกันก็คือ ผมได้มีโอกาสนั่งฟังเสียงบ่นพึมพำและคร่ำครวญของบรรดาคนงานพลัดถิ่นอย่างใกล้ชิด ในบรรยากาศของวงเหล้าในสวนมะพร้าว ใต้ถุนแฟลตที่พักอาศัยของคนสิงคโปร์ ริมถนน หรือแม้กระทั่งที่จอดรถใต้ตึกอาคารโกลเด้นไมล์ ผมได้พบกับคนงานในสภาพซึมเพราะฤทธิ์เหล้าเบียร์ หรือสภาพที่กำลังอยู่ในอารมณ์อยากพูดคุยระบายจำนวนมาก ลุงสุนันท์ เพื่อนบ้านของไก่มาจากบ้านยางคำ ทางแยกอำเภอดอนโมงติดกับอำเภอหนองเรือ ขอนแก่น บ้านเดียวกับไก่บอกว่าจะกลับไปเยี่ยมบ้านวันที่ 5 ตุลาคม 2547 ไก่บอกว่าจะซื้อนาฬิการาคาเรือนละ 100 กว่าเหรียญฝากไปให้ผู้เฒ่าที่บ้านด้วย ไก่คงหมายถึง พ่อ ของตัวเอง

ลุงสุนันท์สนใจเรื่องปัญหาแรงงาน สนใจว่าอยากขอให้ทางการช่วยเหลือ งานที่ตัวเองทำมันถูกนายหน้าที่เป็นคนจีนเอารัดเอาเปรียบ กดค่าแรง มีทางช่วยได้หรือไม่ และปัญหาอีกอย่างก็คือ ท่าทีและทัศนคติของข้าราชการไทยในต่างประเทศ แกเล่าถึงประสบการณ์ของตนเองที่บรูไนเพราะตอนมาทำงานสิงคโปร์ยังไม่เคยไปติดต่อสถานทูตหรือสำนักงานแรงงานเลย แต่ที่บรูไน ลุงสุนันท์เล่าว่า พอคนงานไทยติดต่อบอกว่า ลุงนั่งรอก่อน ...เฮ็ดกับคนงานไทยเฮาคือหมูคือหมานี่ เว้านำกะบ่ดี กระโชกโฮกฮาก แต่พอนายจ้างเถ้าแก่บรูไนมา มันต้อนรับดี จัดให้นั่งเก้าอี้นวม มีน้ำโค้กให้กินซ้ำ มันเป็นอิหยัง...พวกข้าราชการไทยนี่ มันสิมีทางแก้บ่ อยู่เมืองไทยกะคือกัน มันมีแต่พวกเจ้าพวกนาย ทั้งๆ ที่กะกินเงินภาษีของประชาชนเฮานั่นหล่ะ

นอกจากลุงสุนันท์ ผมยังได้คุยกับเรืองเดช คนอุดร อายุ 35 ปี ทำงานกับลุงสุนันท์ รักและเคารพลุงสุนันท์มาก ท่าทางเป็นคนซื่อ บอกกับผมว่า ชอบพูดคุยกับคนที่มีความรู้ เฮ็ดให้เฮาได้ความรู้ไปนำเพิ่น เรืองเดชบอกว่า อยู่บ้านมันทุกข์ยาก มีแต่หนี้สิน ลูกเมียก็ไม่มีสิกินก็เลยตัดสินใจว่า มาทำงานสิงคโปร์ พอให้มีรายได้หลายกว่าเก่าจักหน่อยแหน่ แล้วกะบ่ให้ลูกเมียลำบาก ให้มันลำบากแต่เจ้าของซะ เฮาเป็นผู้ชาย เฮาเป็นหัวหน้าครอบครัว อ้ายชำนาญที่มาด้วยกันบอกผมว่า คนงานไทยเก็บกดที่สุด เรื่องเฮ็ดงานบ่อายไผ เฮ็ดได้เหมิดทุกอย่าง แต่เว้าภาษาเขาบ่ได้ เถียงเขากะบ่เป็น เขาสั่งอันได๋มากะเฮ็ดไป ในบรรดางานก่อสร้างทั้งหลาย งานขุดและวางท่อระบายน้ำ หรือที่เรียกกันว่า ร่องกาว หนักที่สุด แต่งานสกปรกที่สุดคืองานท่อตามอาคารเด้อ ผมสิเว้าให้ฟัง ลางเถื่อ...ทากาวซ่อมท่ออยู่ดีๆ กดน้ำขี้ไหลหล่วงลงมาแล้ว สิเฮ็ดจั่งได๋นอ บ่เฮ็ดมันกะบ่แล้ว อดทนเอาซะ มือหนึ่งคว้าก้อนขี้มือหนึ่งคว้ากาวปะท่อประกบให้มันเขากัน โอ๊ย...จั่งแม่นมันทุกข์ยากหลาย

นอกจากลำนำความทุกข์ยากของคนขายแรงแล้ว คนงานบางคนก็เล่าเรื่องความเชื่อ เครื่องรางของขลัง และครอบครัวทางบ้านให้ฟัง เหมือนกับเป็นการระบายความคับข้องใจ หนุ่มใหญ่ไกรสรคนนี้เล่าเรื่องปาฏิหาริย์ของหลวงปู่ที่บ้านอำเภอพิบูลย์ลักษณ์ อุดรธานี ช่วยให้รอดจากการ เป็นหล่อย (สภาพร่างกายที่กล้ามเนื้อหมดเรี่ยวแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ) ระหว่างที่ทำงานที่ประเทศอิสราเอล ไม่รู้สาเหตุว่าเกิดจากอะไร แต่จำได้ว่าตอนออกจากบ้านมาทำงานต่างประเทศนั้น บ่ได้ คอบหรือบอกกล่าวหลวงปู่ ทำให้ขยับเนื้อตัวไม่ได้เลย ก่อนมาสิงคโปร์ หลวงปู่ดูดวงให้บอกว่า วาสนาดี สิได้งานดี แต่สิได้เฮ็ดงานเกี่ยวกับโลหะ บ่แม่นงานไม้ พอมาสิงคโปร์มันกะแม่นควมเพิ่นอีหลี ผมได้งานรัฐบาลสิงคโปร์ บ่มีมื้อหยุดพักเลย เฮ็ดงานทาสีคาน เขาเอิ้นหว่าบีม (beam) บ้านเฮาเอิ้นคาน ทาสีกะบ่หนักดอก แต่หนักตอนยกเรียงขึ้นตู้คอนเทนเนอร์ เขาส่งออกไปประเทศอิหร่าน ผมโชคดีที่ได้งานดีหลาย มื้อละ 23 เหรียญ แต่เถ้าแก่สิจ่ายค่าอาหารให้พิเศษเดือนละ 100 เหรียญ ที่พักกะบ่ต้องเสีย ค่าอาหารกะมีคนจ่ายให้ ได้เถ้าแก่ดีหลายแท้ ผมกะตั้งใจเก็บเงินอย่างเดียว เก็บเงินส่งเมือบ้าน เหล้ายาผมกินบ่หลาย โดนๆ กินเถื่อ ผมคิดหาแต่ลูกแต่เมีย บักได๋ได้เงินมากินเหล้าเที่ยวผู้หญิง มึงไปโลด ผมคิดแค่ว่า เฮ็ดจั่งได๋กูจั่งสิรวย เฮ็ดจั่งได๋ลูกเมียกูจั่งสิได้อยู่ดีกินดี ผมคิดแค่นี้ หมู่เฮ็ดงานนำกันไปกินไปเล่น ผมบอกเลย มึงบ่ได้เงินหลายซ่ำกูดอก

กินข้าวเย็นกับไก่ที่โกลเด้นไมล์

(12 กันยายน 2547)

พอเราลุกจากวงที่จุดที่เรานั่งใต้ต้นมะพร้าวในสวน ผมเก็บรวบรวมขยะใส่ถุงพลาสติกเพื่อเก็บทิ้งลงถัง ไก่พยายามบอกผมว่า ไม่ต้องทำเดี๋ยวคนขายเขาก็จะมาเก็บขยะไปทิ้งเอง ผมบอกว่าไม่ได้ เราทำรกเราต้องทำความสะอาดด้วย คนงานอื่นที่นั่งร่วมวงก็ลุกหนีไป ทั้งๆ ที่ถังขยะอยู่ห่างไม่กี่ก้าว พอค่ำมืดลง คนงานหลายคนก็ลุกไปฉี่ตามโคนต้นมะพร้าวใกล้ๆ กับจุดที่ตัวเองกับเพื่อนตั้งวงเหล้า ทั้งๆ ที่ห้องน้ำสาธารณะอยู่ห่างออกไปไม่ถึง 50 เมตร

ไก่พยายามคะยั้นคะยอว่า กินข้าวเย็นแถวๆ โกลเด้นนี่แหละ ผมสิไปซื้อลาบกับข้าวเหนียวมาสู่อาจารย์กินเด้อ เฮาไปนั่งกินแถวใต้ถุนแฟลตเพราะแถวนี้มันมืดแล้ว แถวแฟลตมีแต่คนไทยเต็มอยู่ มันกินเหล้าร้องรำทำเพลงกันหม่วนตื๊บ... ผมพยายามปฏิเสธด้วยการบอกว่าจะรีบกลับ แต่ไก่ไม่ยอมมันบอกว่าจะเลี้ยงอาจารย์ ผมต่อรองว่า ถ้าอย่างนั้นเราไปนั่งกินในร้านดีกว่า ผมไม่ให้ไก่ออกเงินหรอก แต่ไก่บอกว่าตามร้านมันแพงกว่า ซื้อออกมากินข้างนอก เฮาซื้อแล้วมานั่งกินแถวแฟลตกะได้ ผมชั่งใจอยู่นานเพราะตัวเองก็ไม่ค่อยสะดวกใจเท่าไร แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจตกลง เพราะอยากจะลองดูว่าเราไปนั่งกินมื้อเย็นตามพื้นดินหรือสนามหญ้าใต้ถุนตึกแฟลตที่พักของคนสิงคโปร์ย่านนั้น มันจะเป็นอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นและตัวเราเองจะรู้สึกอย่างไรในฐานะของนักเรียนมานุษยวิทยา

ผมกับไก่ก็เดินเข้าไปในโกลเด้นชั้นล่าง ผมไม่ได้ดูนาฬิกาแต่คะเนว่าน่าจะเป็นเวลากว่า 2 ทุ่มแล้ว ไก่พาไปซื้อกับข้าวที่ร้านไพลินที่มันบอกว่าแซบกว่าร้านอื่น พอกินได้ ผมยัดเงินใส่มือไก่ไป 20 เหรียญ ไก่ถามผมว่าอาจารย์กินลาบดิบได้ไหม มันหมายถึงลาบวัวดิบประเภทก้อยหรือซกเลก แต่ผมบอกไปตามตรงว่า ผมกินไม่ได้ มันเลยซื้อลาบสุก ซุปหน่อไม้ หูหมูต้มจิ้มแจ่ว ของหวานและข้าวเหนียวอีก 2 ถุงใหญ่ อาหารทุกอย่างบรรจุในกล่องพลาสติคใสขนาดเล็ก ลาบกล่องละ 5 เหรียญ ซุปหน่อไม้ 2 เหรียญ ข้าวเหนียวถุงละ 2 เหรียญ ของหวานอีก 2 เหรียญ พอได้ของทั้งหมด เราก็เดินข้ามสะพานตรงไปที่แฟลต แวะซื้อน้ำเปล่า 1 ขวดใหญ่ ราคา 1.20 เหรียญ ไก่เลือกสนามหญ้ากลางแจ้งเป็นโต๊ะอาหารมื้อค่ำของเรา จากนั้นเราก็ลงมือกินข้าวมื้อเย็นกัน รสชาติก็พอกินได้ ทั้งลาบและซุปหน่อไม้ แต่ผมรู้สึกว่าไม่แซ่บ ไม่เปรี้ยวหรือเผ็ดถึงใจ แต่รสชาติที่รู้สึกได้ในทันทีก็คือ รสนัวๆ ของผงชูรสที่คุ้นลิ้นของคนอีสานบ้านผมเอง ผมชวนไก่คุยหลายต่อหลายเรื่อง รวมทั้งกลุ่มแม่ค้าขายของ ระหว่างที่เราคุยกันอยู่ก็มีแม่ค้าคนหนึ่งแวะมาถามว่า เรามีเหล้ากินหรือยัง ไก่ถือติดมือมาจากวงเหล้าที่สวนมะพร้าวพอดี เลยบอกว่ามีแล้ว ครู่ต่อมา แม่ดาก็แวะมาจะเอ๋ด้วย แกมักจะมาขายของแกส่งท้ายแถวแฟลตเป็นประจำก่อนจะกลับโรงแรมไปพักผ่อน แต่ตอนกลางวันแกก็จะยึดที่หัวสะพานในสวนมะพร้าวเป็นทำเลทองของแก

เรากินข้าวเสร็จก็แยกย้ายกันกลับ ระหว่างที่เดินข้ามถนนมา ไก่บอกว่าต้องหาซื้อบุหรี่ ไก่แวะซื้อบุหรี่สิงคโปร์ 1 ซองราคา 9.50 เหรียญ มันบ่นว่าแพงฉิบหาย ราคาขนาดนี้ซื้อยาเส้นได้ตั้ง 3 ห่อ ยาเส้นจากเมืองไทยคือบุหรี่มวนเองของบรรดาสิงห์อมควันจากเมืองไทยทั้งหลาย ราคาย่อมเยา ไก่บอกว่า ผมกินข้าวเสร็จขาดยาสูบไม่ได้ มันแพงนะ แต่ก็ไม่รู้จะเลิกยังไง ผมถามไก่ว่าวันอาทิตย์จะมาอีกไหม ไก่บอกว่า อาจจะทำต้องทำงาน ทำโอที เถ้าแก่บอกให้ทำ เราก็ต้องทำ ไก่ถามผมว่า อาจารย์จะมาไหม ผมบอกว่าคงต้องมาเพราะผมรับปากว่าจะสอนภาษาอังกฤษให้สมาคมเพื่อนแรงงานไทยแล้ว ถ้าไก่สนใจอยากจะเรียนด้วยก็มา อยู่ชั้น 3 อาคารโกลเด้นไมล์ตั้งแต่ทุ่มครึ่งถึงสามทุ่ม พอเราเดินถึงสถานีรถไฟ Lavender ไก่บอกว่า นี่ถ้าไม่มากับอาจารย์ผมนั่งแท็กซี่กลับแล้ว แต่ผมบอกว่านั่งรถไฟก็ประหยัดกว่านะ ไก่นั่งไปคนละทางกับผม เขาไปทางที่จะไปสนามบินชางฮีลงที่สถานี Expo แล้วเดินเท้าต่อประมาณ 1 กม. ไก่มันบ่นว่า ผมขี่ค้านหย่าง…”

ฟุตบอลแรงงานไทยในสิงคโปร์

(28 พฤศจิกายน 2547)

สมาคมนักศึกษามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช ประเทศสิงคโปร์ร่วมกับสมาคมเพื่อนแรงงานไทยจัดการแข่งขันฟุตบอลแรงงานคัพเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ของคนงานไทยในประเทศสิงคโปร์ และเพื่อกระตุ้นให้แรงงานใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ฟุตบอลรายการนี้จัดเป็นครั้งที่ 4 แล้ว ผมมีโอกาสเข้าร่วมการประชุมของคณะทำงานที่ทำการของสมาคมเพื่อนแรงงาน ปีนี้งบประมาณที่ใช้จัดทั้งหมดประมาณ 12,000 เหรียญดอลล่าร์สิงคโปร์ งบประมาณได้มาจากหลายแหล่ง ได้แก่ ค่าสปอนเซอร์จากผู้สนับสนุนการแข่งขัน เช่น ห้างร้านในโกลเด้นไมล์ บริษัทขนาดใหญ่ที่มีคนงานไทยทำงานเป็นจำนวนมาก สินค้า เช่น เบียร์สิงห์ นอกจากนั้น ยังมีเงินค่าประกันทีม เงินค่าสมัครที่เก็บจากทีมต่างๆ ที่เข้ารวมการแข่งขัน เงินจำนวนมากนี้หมดไปกับการเช่าสนาม จ้างกรรมการ ค่ารางวัลตอบแทน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ พุทธทาสบอกว่า ค่าเช่าสนามปีนี้ที่จัดที่ Commonwealth รวมทั้งค่ากรรมการตัดสิน หมดไปประมาณ 5,700 S$ ปีนี้มีแรงงานส่งทีมฟุตบอลเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 21 ทีม จากที่เคยตั้งเป้าหมายไว้เพียง 14 ทีม เท่านั้น ฟุตบอลรายการนี้ได้รับความสนใจจากแรงงานไทยเป็นอย่างมาก

การแข่งขันปีนี้เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนแล้ว ผมกลับบ้านที่เมืองไทยเลยไม่มีโอกาสได้เห็นพิธีเปิดและการแข่งขันแมทช์แรกๆ วันที่ผมไปร่วมสังเกตการณ์เป็นการแข่งขันอาทิตย์ที่สามแล้ว เป็นการแข่งขันในรอบแบ่งกลุ่มของแต่ละสาย ตอนผมออกจากบ้านแดดร้อนจัดมาก แต่พอไปถึงสนามฟ้าก็มืดมา จากนั้นไม่นานฝนก็เริ่มเทลงมา สนามเปียกแฉะ พอแข่งฟุตบอลไป 2-3 คู่สนามก็เละเจิ่งนองไปหมด พื้นสนามก็กลายเป็นโคลนเละเหมือนกับท้องนา แต่ทีมฟุตบอลแต่ละทีมก็ตะลุยแข่งขันกันอย่างเอาจริงเอาจัง รอบๆ สนามก็มีกองเชียร์ที่ยกมากันมาจากบริษัทหรือไซท์งานของแต่ละคน ประมาณด้วยสายตาคาดว่าไม่น้อยกว่า 200-250 คน

ผมเดินถ่ายรูปของแต่ละทีม ถ่ายรูปกองเชียร์ และบรรยากาศของสนามฟุตบอล จากนั้นก็ไปนั่งชมและเชียร์ร่วมกับกลุ่มตัวแทนผู้จัดการแข่งขันและกลุ่มแม่ค้าส้มตำ ข้าวเหนียว และอาหารง่ายๆ ที่ร่มจามจุรีต้นใหญ่ แม่ค้านำทีมโดยพี่สมบูรณ์ จันจิรา และน้องอีก 2-3 คนที่ผมไม่รู้จัก นุชยังไม่มาแต่มีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานแรงงาน 2 คน ทราบชื่อภายหลังว่า ชื่อ คุณพัฒนา (พี่โป่ง) กับน้องนักศึกษาผู้หญิงที่มาฝึกงานสหกิจศึกษาจากมหาวิทยาลัยนเรศวร วิชาเอกพัฒนาสังคม พี่โป่งและน้องๆ เดินแจกใบประกาศเชิญชวนให้คนงานไปร่วมงานถวายพระพรวันเฉลิมพระชนม์พรรษา 5 ธันวาคม ณ สถานทูตไทยที่ถนนออร์ชาร์ด

พี่สมบูรณ์และน้องๆ ตำส้มตำ ซุปหน่อไม้ ข้าวเหนียว หอยนึ่ง มีแกงบวดถั่วดำเป็นของหวาน แจ็คคนสิงคโปร์เพื่อนของวิทยายกเอาลังน้ำเย็นน้ำอัดลม น้ำผลไม้กระป๋องแช่เย็นมาวางขายด้วย ขายกระป๋องละ 1 เหรียญรวด ผมยังกึ่งเหน็บกึ่งชมแจ็คว่า “You Singaporeans really know how to make money.” แจ็คช่วยวิทยาติววิชาคณิตศาสตร์ วิทยาลงทะเบียนเรียน มสธ. ด้วย แจ็คบอกว่า อยากจะไปเปิดสอนวิชาภาษาจีนกลางที่สำนักงานเพื่อนแรงงานไทยด้วย แต่ดูเหมือนว่าไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก บรรดานักฟุตบอลของทีมที่แข่งเสร็จแล้วก็มานั่งกินข้าวเหนียวส้มตำ ผัดหมี่ กินข้าว กินเหล้า แม่ค้าก็ขายดีพอสมควร แต่โชคร้ายที่ฝนตกลงมาทำให้คนงานเริ่มทยอยกลับบ้าน พี่สมบูรณ์บอกว่าต้องมานั่งหลบขายที่มุมไกลจากถนนและสถานีรถไฟ เพราะไม่ต้องการให้ตำรวจสิงคโปร์สงสัย ถ้าใครมาก็บอกเพียงว่า เรามาปิคนิกกัน ไม่ได้มาค้าขายอะไรสักหน่อย กิจกรรมการค้าเช่นนี้ไม่ได้รับอนุญาตจากทางการสิงคโปร์ บรรดาน้องๆ ที่เป็นกรรมการของสมาคมเพื่อนแรงงานไทยในสิงคโปร์ต่างก็เตรียมถุงขยะสีดำมาด้วย กำชับให้คนงานเก็บขยะ ทำความสะอาดสถานที่ไปด้วย ผมเดินเลาะดูเห็นกระป๋องเบียร์และลังเหล้าแสงโสมกองอยู่ตรงถังขยะไม่น้อยกว่า 3 ลัง กองเชียร์ฟุตบอลก็ร้องรำทำเพลง เล่นกีตาร์ไปด้วย ยกเหล้าไปด้วย เป็นบรรยากาศของการพบปะสังสรรค์และเชียร์กีฬาแบบหนุ่มบ้านนอกจากแดนที่ราบสูงโดยแท้

จันจิราเล่าให้ฟังภายหลังจาก กลุ่มที่มาขายของตกลงกันว่าขายหาเงินเข้าสมาคม ให้แต่ละคนแบ่งงานกันทำ แยกกันขาย จันเตรียมข้าวนึ่งสุกมา 35 ถุงๆ ละ 1 เหรียญ หอยแมลงภู่นึ่ง พี่สมบูรณ์ขายส้มตำ ซุปหน่อไม้ ผัดหมี่ พี่วลีและคนอื่นๆ ก็เตรียมของมาขายร่วมกัน ตอนขายจริงๆ ใครขายอะไรได้เงินก็แยกกันไป ไม่ได้เอามารวมกัน ไม่ต้องยุ่งยากผิดใจกันภายหลัง พี่สมบูรณ์ท่าทางคล่องแคล่วมาก ใส่ชุดเสื้อยืดกางเกงวอร์มทะมัดทะแมง สมกับที่น้องๆ เขาเรียกว่า หม่อมแม่ กุ้งเป็นตัวแทนกรรมการอีกคนหนึ่ง สามีเป็นวิศวกรบริษัท Siemens เป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันทีมของพี่สมศักดิ์ ชื่อทีมว่า “ABB” ส่วนทีมอื่นๆ ที่จำชื่อได้ เช่น หนองประจักษ์ นครเพ็ญ กันตรึมร็อค เราและนาย ชิมิสึ ฯลฯ พอฝนตกหนักผมก็ต้องเดินขึ้นไปหลบฝนที่โรงจอดรถนอกสนาม บางทีก็เอาป้ายโฆษณาสินค้าที่ติดกับรั้วข้างสนามมาทำเป็นร่มที่กำบัง พอให้ทุกคนได้ซุกหัวหลบฝน ทุลักทุเลกันทั้งแม่ค้า กองเชียร์ และนักฟุตบอล สนามลื่น หลายทีมก็เล่นกันแรงต้องหามออกมาปฐมพยาบาลกันเป็นระยะๆ

ตกตอนเย็นผมกับเจี๊ยบ นุช และจันจิราขึ้นรถไฟเข้าโกลเด้นไมล์ ผมจะต้องไปเตรียมตัวสอนภาษาอังกฤษ พาน้องๆ แวะกินก๋วยเตี๋ยวเรือรังสิต อร่อยเหมือนกับที่กินที่เมืองไทย ผมไม่ค่อยรู้ร้านอร่อยแต่น้องๆ เขารู้จักกันดี หัวหน้าสำนักงานแรงงานไทยในสิงคโปร์ (สนร. สิงคโปร์) (นายสมทวี ก่อพัฒนศิลป์) มารอคุยกับน้องๆ แรงงานอยู่แล้ว หัวหน้าต้องการคนงานไปร่วมกิจกรรมทางการกับสำนักงานฯ ผมได้ยินหลายคนบ่นว่า วันศุกร์คงจะไปร่วมไม่ได้เพราะลางานไม่ได้ ส่วนใหญ่จะมีเวลาว่างเฉพาะวันอาทิตย์เท่านั้น หลายคนก็บอกผมภายหลังว่า งานอย่างนี้ทำไมไม่เกณฑ์เอาพวกข้าราชการหรือนักเรียนทุนรัฐบาลไปช่วยกันทำ พวกเราแรงงานไม่มีเวลา ต้องทำมาหากิน ยิ่งเป็นหนี้เป็นสินกันอยู่

หัวหน้า สนร. สิงคโปร์ประมาณการให้ฟังว่า ตอนนี้แรงงานไทยมีในประเทศสิงคโปร์ประมาณ 40,000-45,000 คน แต่ไม่มีใครรู้จำนวนแน่นอน ไม่มีการสำรวจหรือวิจัยอย่างจริงจัง สำนักงานฯ จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อมีแรงงานมารายงานตัวเมื่อเดินทางมาถึง แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำกัน เรารู้จากการประมาณการเท่านั้น ตามระเบียบแล้ว พอคนงานเดินทางมาถึงสิงคโปร์ก็ต้องไปรายงานตัวทันที แต่ไม่ได้ทำกัน ที่สำนักงานก็ไม่มีกำลังเจ้าหน้าที่อย่างเพียงพอ

ตอนผมเดินเลาะถ่ายรูปในโกลเด้นไมล์ ผมได้ยินเสียงประกาศผ่านลำโพงของทางห้าง เตือนคนงานว่า ห้ามเยี่ยวลงพื้น ห้ามกินเหล้าเมาแล้วอ้วกเรี่ยราด ห้ามนั่งกับพื้น ให้ระมัดระวังทรัพย์สินของแต่ละคน แต่จำได้คร่าวๆ เท่านั้น สัปดาห์ต่อไปต้องนั่งจดให้ละเอียด ที่ห้องเรียนวันนี้มีนักเรียนมาเรียน 8-9 คน เลิกเรียนประมาณ 3 ทุ่มตรง นักเรียนแรงงานบอกว่า อาทิตย์ต่อไปตรงกับวันที่ 5 ต้องไปร่วมงานที่สถานทูต งดเรียน 1 วัน ผมก็เลยให้การบ้านในหนังสือเรียนไป พร้อมกับกำชับให้ไปศึกษาบทเรียนมาล่วงหน้า งานวันชาติและวันเฉลิมพระชนม์พรรษาปีนี้ สถานทูตฯ จ้างโจนัสกับคริสตี้ นักร้องลูกทุ่งฝรั่งมาแสดงให้แรงงานและคนไทยในสิงคโปร์ชมกัน เห็นแรงงานหลายคนบอกว่าอาหารและเครื่องดื่มฟรี ผมตั้งใจไปร่วมงานและสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น