Friends of Thai Workers Association

Friends of Thai Workers Association Supported By Office of Thai Labour Affairs in Singapore

วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เขาหาว่าผมบ้า... เฮ็ดแต่ผ้าป่าแรงงาน


โดย เจริญ ผิวดำ

ผมชื่อ เจริญ ผิวดำ อยู่บ้านโยธา อำเภอกู่แก้ว จังหวัดอุดรธานี อาชีพเดิมทำนา จากบ้านมาขายแรงงานอยู่ที่เมืองนอกก็นานหลายปี พอมาอยู่ไกลบ้านก็อยากจะช่วยทางวัดทางโรงเรียนบ้าง จึงเกิดแรงบันดาลใจขึ้น คิดที่จะ “ทำผ้าป่า” (มาจากภาษาอีสานว่า “เฮ็ดผ้าป่า” --บรรณาธิการ) หาเงินไปทำบุญช่วยทางวัดทางโรงเรียน จึงขอความร่วมมือจากเพื่อนๆ แรงงาน ผมได้รับความร่วมมือจากเพื่อนเป็นอย่างดีแทบทุกครั้ง ครั้งแรกทำผ้าป่าไปช่วยทางวัดสร้างกำแพงวัด ครั้งที่สองทำซุ้มประตูวัด ครั้งที่สามช่วยโรงเรียนสร้างห้องสมุด ครั้งที่สี่ช่วยพัฒนาสถานีตำรวจภูธรอำเภอกู่แก้ว ครั้งที่ห้าหาเงินไปที่ช่วยวัดและร่วมเป็นเจ้าภาพสร้างหอฉันและศาลาของหมู่บ้านที่ผมอยู่ ทุกปีผมได้ช่วยเพื่อนๆ จัดกองผ้าป่าไปทำบุญหลายจังหวัดอยู่เหมือนกัน ผ้าป่าเป็นกิจกรรมช่วยเหลือสังคมที่ผมทำมาตลอด ไม่ได้ขาดเลย การทำผ้าป่าหรือทำบุญมันเป็นกุศลอันดีต่อตัวเราและช่วยเหลือจุนเจือชุมชนได้เป็นอย่างดี ทำบุญทอดผ้าป่าแล้วจะทำให้ใจสบาย อิ่มเอิบ ผ้าป่าเป็นสิ่งที่เราทำแล้วมีความสุขใจ

ขั้นตอนของการทำบุญผ้าป่าแรงงานส่วนใหญ่จะเริ่มจากการติดต่อชาวบ้าน หรือคณะกรรมการหมู่บ้านให้พิมพ์ซองมาให้ ระบุกำหนดการและรายละเอียดว่าจะเอาวันที่เท่าไหร่ พอได้วันเวลาก็พิมพ์ซอง มีรายชื่อคณะกรรมการแล้วก็เอามาตีตราประทับด้วย ถ้าทำผ้าป่าไปถวายวัดก็ประทับตราของวัด ถ้าทำไปโรงเรียนก็ประทับตราโรงเรียน หรือทำไปอำเภอก็ประทับตราอำเภอ ส่วนผมที่อยู่ทางเมืองนอกก็หาประธานและคณะกรรมการฝ่ายสิงคโปร์แล้วส่งรายชื่อไปให้พิมพ์เข้าด้วยกัน ถึงจะเป็นกองผ้าป่า “สิงคโปร์-อุดรธานี” ที่สมบูรณ์ได้

จากนั้น ผมก็ขอให้คณะกรรมการผ้าป่าทางบ้านส่งซองผ้าป่ามาให้ที่สิงคโปร์ อาจจะส่งทางไปรษณีย์ หรือฝากพี่น้องแรงงานที่อยู่บ้านเดียวกันหรือบ้านใกล้กันมาให้ที่สิงคโปร์ก็ได้ ส่งมาครั้งละ 800, 1,000 หรือ 2,000 ซองก็แล้วแต่ความประสงค์ของการจัดผ้าป่าแต่ละครั้ง ประธานคณะกรรมการผ้าป่าที่สิงคโปร์เริ่มทำงานด้วยการแจกซอง โดยการแบ่งซองกันไปขอเพื่อนแรงงานให้ช่วยกันทำบุญ กรรมการแต่ละคนจะต้องช่วยกันรับซองไปแจกมากน้อยก็แล้วแต่กำลังศรัทธาและจำนวนเพื่อนแรงงานคนไทยที่ทำงานด้วยกัน หรือพักในหอพักเดียวกัน ถ้าใครบอกว่าจะรับได้เท่าไหร่ก็ให้ไปตามนั้น เช่น บอกว่าจะช่วย 50 หรือ 100 ซองก็ว่ากันไป พอถึงกำหนดวันรวบรวมซอง แต่ละคนก็ต้องเอาซองผ้าป่ามาส่งมาตามจำนวนนั้นๆ พอแจกซองหมด ประธานและคณะกรรมการผ้าป่าก็จะกำหนดเวลาว่าจะเปิดซองวันไหนและใช้สถานที่ใดจึงจะสมควร พอทุกคนเห็นสมควรแล้วก็นัดกันมาเปิดซอง วันเปิดซองส่วนใหญ่จะนัดเจอกันวันอาทิตย์เพราะเป็นวันที่ทุกคนได้หยุดงานพักผ่อน สถานที่ส่วนใหญ่จะนัดเจอกันที่แถวๆ โกลเด้นไมล์ สวนป่ามะพร้าว หรืออาศัยนั่งตามสนามหญ้า ใต้ถุนแฟลต ใต้ร่มไม้ เป็นต้น

ในวันเปิดซอง ผมและเพื่อนๆ กรรมการในฐานะที่เป็นเป็นเจ้าภาพผ้าป่าต้องเตรียมหาอาหารและเครื่องดื่มไว้รอแขกที่มาร่วมงาน แขกก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ส่วนใหญ่ก็เป็นแรงงานที่ทำงานที่อยู่ด้วยกันบ้างหรือมากับเพื่อนที่ผมได้เชิญเขามาร่วมงาน ส่วนอาหารการกินก็มีกันหลายอย่างอยู่เหมือนกัน เช่น ลาบวัว ส้มตำ ต้มยำ และอื่นๆ เครื่องดื่มพวกเหล้า เบียร์ และน้ำอัดลมจะขาดไม่ได้ จัดการต้อนรับเหมือนที่เราเป็นเจ้าภาพงานบุญที่บ้านเลย พอเพื่อนมาพร้อมกันแล้ว กินข้าวกินปลาแล้วก็จะเริ่มการเปิดซองผ้าป่า ก่อนจะเปิดซอง คนที่เป็นประธานของงานจะออกมากล่าวขอบคุณพี่น้องที่มาร่วมทำบุญ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดผ้าป่าครั้งนี้ แล้วพูดเชิญพี่น้องรับประทานอาหารกันอีกครั้งเพื่อดูแลว่าอาหารและเครื่องดื่มเลี้ยงดูต้อนรับกันทั่วถึงหรือไม่ จะเปิดซองไปด้วยกินไปด้วย จากนั้นกรรมการก็ช่วยกันเปิดซองรวบรวมเงิน จริงๆ ก็คือฉีกซองผ้าป่าหรือซองจดหมายเพื่อเอาเงินทำบุญมากองรวมกัน พี่น้องแรงงานส่วนใหญ่ใส่ซองกันคนละ 1-2 เหรียญ หรือแล้วแต่จิตศรัทธา คนที่เป็นกรรมการต้องใส่เยอะหน่อย เช่น คนละ 50 เหรียญ คนที่มีหน้าตาทางสังคม เช่น เป็นโฟร์แมน หรือเถ้าแก่ก็บริจาคทำบุญให้เหมาะสมกับฐานะของตน พอเปิดซองเสร็จ กรรมการก็จะรวมเงินดูว่าได้เท่าไหร่ พอเสร็จแล้วก็จะประกาศผลยอดผ้าป่า ประกาศผลเสร็จก็จะมีการต่อยอดเงินผ้าป่า

การต่อยอดคือ การต่อเงินที่ได้จากการเปิดซองที่เรียกว่า “เงินซอง” เราเงินซองได้เท่าไหร่ก็จะบอกกับพี่น้องที่มาร่วมงาน จากนั้น กรรมการจะประกาศว่าต่อไปจะเป็นการต่อยอดนะแล้ว คนที่ทำหน้าที่ขอรับบริจาคเงินทำบุญต่อยอดก็ถือจานที่เตรียมมาเดินรอบแขกผู้มาร่วมงาน ใครมีเท่าไหร่ก็ตามศรัทธาใส่มากใส่น้อย แล้วก็มารวมกันกับเงินซองนับดูแล้ว การต่อยอดเงินผ้าป่ามีเคล็ดอยู่ที่ตัวเลขมงคล บ้านเราถือว่าเลขเก้าเป็นมงคล หมายถึงความเจริญก้าวหน้า กรรมการผ้าป่าส่วนใหญ่จะเล็งเป้าการต่อยอดเพิ่มจากเงินซองเพื่อไปให้ถึงจำนวนเงินที่ลงท้ายด้วยเลขเก้าให้ได้ เช่น กรรมการประกาศว่า “พี่น้องเงินซองเฮาตอนนี้ได้ 950 เหรียญ พี่น้องเห็นสมควรว่าจั่งได๋ สิเอาแค่นี้บ้อ หรือหว่าสิต่อยอดออกไปอีก” ในกรณีใครคนหนึ่งที่เป็นเจ้าภาพ กรรมการ หรือแขกที่มาร่วมงานอาจพูดขึ้นว่า “น่าสิต่อยอดเนาะ เอาให้มันได้ฮอด 999 เหรียญ สิเป็นจั่งได๋หือ... เลขมันงามแท้” จากนั้นก็จะมีการพูดกระตุ้นเพื่อให้แขกร่วมทำบุญอีก กรรมการจะรายงานยอดที่เพิ่มเป็นระยะๆ จนได้ครบจำนวนนั้น หรือถ้ามีผู้มีจิตศรัทธามากก็อาจจะเพิ่มมากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ เช่น อาจจบลงที่ยอด 1,099 หรือ 1,199 หรือ 1,299 เหรียญก็เป็นได้ แล้วแต่กำลังศรัทธาและกำลังทุนทรัพย์ กรรมการก็จะถามย้ำว่า “ได้เงินจำนวนถ่อนี้ พี่น้องเห็นว่าจั่งได๋ พอดีแล้วบ้อ หรือสิต่อยอดออกไปอีก” ถ้าแขกส่วนใหญ่พูดว่ายังไม่สมควรหรือยังไม่พอดี ก็จะมีการต่อยอดออกไปอีกครั้งจนกว่าทุกคนจะเห็นดีด้วย พอทุกคนเห็นดีแล้วก็จะนำยอดเงินยอดสุดท้ายที่ได้ไปส่งที่ร้านส่งเงินเพื่อโอนเงินกลับบ้านไปเข้าบัญชีธนาคารของผู้ใหญ่บ้านหรือประธานกรรมการจัดงานผ้าป่าที่เมืองไทย

ส่วนใหญ่ผมนำเงินที่ได้จากการเปิดซองผ้าป่าส่งกลับบ้านเข้าบัญชีภรรยาของผมทุกครั้ง พอได้รับเงินภรรยาของข้าพเจ้าก็ถอนเงินผ้าป่าไปร่วมทำบุญกองผ้าป่าอีกต่อหนึ่ง ที่ต้องทำอย่างนี้เพราะความสะดวก อีกทั้งผู้นำหมู่บ้านและบรรดาชาวบ้านก็ไว้ใจภรรยาของผม ตอนส่งเงินกลับบ้านที่ร้านส่งเงินในอาคารโกลเด้นไมล์ก็จะมีเพื่อนกรรมการผ้าป่าที่มาร่วมงานตามไปเป็นพยานในการส่งเงินทุกครั้ง ผมก็แสดงสลิปส่งเงินเป็นหลักฐานให้ทุกคนดูว่า ไม่มีนอกไม่มีใน ตรวจสอบได้ เป็นการส่งเงินไปทำบุญตามจิตศรัทธาของทุกคน เงินผ้าป่าที่ส่งไปให้ชุมชน กรรมที่เมืองไทยก็จะนำไปทำกิจกรรมตามที่ชุมชนได้ขอข้าพเจ้ามา พอผมกลับบ้านไปพัก ผู้นำชุมชนก็จะพาไปเดินดูผลงานต่างๆ ที่สร้างจากเงินผ้าป่าแรงงาน เช่น กำแพง หรือซุ้มประตูวัด หอสมุดโรงเรียน ถนนภายในสถานีตำรวจ เป็นต้น

การ “เฮ็ดผ้าป่า” เป็นกิจกรรมการทำบุญเพื่อพัฒนาชุมชนหรือทำนุบำรุงพุทธศาสนา เพื่อความเจริญก้าวหน้าของชุมชน ทำให้เกิดสิ่งดีๆ ต่อชุมชน ทุกคนจะได้รู้จักในสิ่งที่ดีสิ่งที่ชั่ว การทำบุญผ้าป่าจะเกิดอานิสงส์ต่อคนที่ทำ ใครได้ทำแล้วจะได้รู้ว่า การให้จะดีกว่าการที่เราไม่รู้จักให้ การให้จะกำจัดของความตระหนี่ถี่เหนียว คนตระหนี่จะไม่ค่อยมีความสุขเหมือนคนที่รู้จักให้รู้จักทำบุญทำทาน ผ้าป่าคือการทำบุญ การทำบุญไม่ว่าจะทำด้วยอะไร หรือทำมากน้อยเพียงใดก็ตาม คนทำบุญจะได้รับผลบุญเสมอ

สำหรับพวกเรา...แรงงานไทยในสิงคโปร์ ผ้าป่าแรงงานเป็นการทำบุญและเป็นการระดมทุนทรัพย์เพื่อพัฒนาหมู่บ้านของตนเองอีกทางหนึ่ง เราทำงานขายแรงอยู่ไกล แต่ใจเรายังห่วงใยบ้านเกิดเมืองนอน

ผมนายเจริญ ผิวดำ จะขอจบเรื่องผ้าป่าแรงงานแต่เพียงเท่านี้ จงทุกท่านจงเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละทั่วถึงกันทุกคน

ป.ล.:ไผสิเฮ็ดผ้าป่าอีก อย่าลืมชวนผมเด้อ ผมยินดีรับใช้พี่น้องตลอด เรื่องเฮ็ดผ้าป่า... ขอให้บอกมาโลด บ่ต้องเกรงใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น