Friends of Thai Workers Association

Friends of Thai Workers Association Supported By Office of Thai Labour Affairs in Singapore

วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

สิ่งละอันพันละน้อยที่ผมได้เรียนรู้จากพี่น้องแรงงานไทยในสิงคโปร์

ผมสอนตัวเองให้เจียมใจเสมอว่า ตัวเองเป็นนักเรียน ผมร่ำเรียนมาในสาขาวิชาที่เรียกว่าวิชามานุษยวิทยาสังคมวัฒนธรรม (sociocultural anthropology) ซึ่งเป็นวิชาสังคมศาสตร์แขนงหนึ่งที่เน้นการศึกษาหาความรู้จากชีวิตทางสังคมและวิถีวัฒนธรรมของมนุษย์กลุ่มต่างๆ ในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม ด้วยเหตุนี้ผมจึงสะดวกใจที่จะเรียกตัวเองว่า “นักเรียนมานุษยวิทยา”
อาจจะเป็นด้วยโชคชะตาหรือบุญวาสนา หรือสาเหตุอื่นที่ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันที่ได้ลิขิตทางเดินให้นักเรียนอย่างผมได้มีโอกาสมาใช้ชีวิตเรียนรู้กับ “ครู” ในโลกของคนไกลบ้าน ชะตาชีวิตของเราเวียนมาบรรจบกันที่สิงคโปร์ เราต่างก็มีรากเหง้าของคนบ้านนอกจากชายขอบของเมืองไทยเหมือนกัน เราต่างก็พลัดพรากบ้านเกิดเมืองนอนมาทำมาหากินที่สิงคโปร์เหมือนกัน ที่สำคัญ พวกเราส่วนใหญ่เป็นคนรากหญ้าจากแดนดินถิ่นอีสานเหมือนกัน บรรดาครูในโลกนอกห้องเรียนที่ผมกำลังพูดถึงในที่นี้ก็คือ พี่น้องแรงงานและแม่บ้านไทยในสิงคโปร์
ผมถือเป็นเกียรติประวัติอันยิ่งใหญ่ในชีวิตนักเรียนของตัวเองที่ได้มีโอกาสเรียนรู้จากชีวิตจริงของท่านทั้งหลายมาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2547 ผมภูมิใจและรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณตลอดเวลาที่ได้เรียนรู้จากท่านทั้งหลายด้วยการสัมภาษณ์พูดคุย สังเกตการทำงานและการใช้ชีวิต ร่วมกิจกรรมอาสาสมัครต่างๆ ที่สนับสนุนโดยสถานเอกอัครราชทูตและสำนักงานแรงงาน รวมทั้งมีโอกาสสอนภาษาอังกฤษและวิชาอื่นๆ ให้ตามวาระโอกาสต่างๆ ท่านอาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม แต่ผมเชื่อว่าทั้งครูและนักเรียนต่างก็ได้เรียนรู้จากกันและกัน มากบ้างน้อยบ้างตามแต่เงื่อนไขของแต่ละคน ผมขออนุญาตแบ่งปันความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับชีวิตและชุมชนของแรงงานไทยในสิงคโปร์ที่ผมได้เรียนรู้มาตลอด 6 ที่ผ่านมา ในฐานะของครูผู้เป็นเจ้าของความรู้และเจ้าของเรื่องเล่าและประสบการณ์ชีวิตของแรงงานไทยในสิงคโปร์ตัวจริง ขอทุกท่านช่วยตรวจการบ้านให้ผมด้วย รวมทั้งได้โปรดให้การชี้แนะด้วยในส่วนที่ผมเข้าใจผิดพลาดหรือรู้ไม่จริง
ผมเรียกเรื่องเล่าหรือประสบการณ์ชีวิตที่ผมได้จากการศึกษาแรงงานไทยในสิงคโปร์ว่า “ความรู้” เป็นความรู้แบบสิ่งละอันพันละน้อยที่ผมรวบรวมมาจากประสบการณ์ชีวิตช่วงหนึ่ง ซึ่งผมได้มีโอกาสสัมผัสและติดตามสังเกตชีวิตและชุมชนของพี่น้องแรงงานไทยในสิงคโปร์อย่างใกล้ชิดพอสมควร ผมไม่แยกแยะความรู้ที่ผมได้รับว่าอันไหนเป็นโอกาส ปัญหาอุปสรรคหรือความท้าทาย แต่ขอเรียกรวมๆ ว่า สิ่งละอันพันละน้อยที่ผมได้เรียนรู้จากพี่น้องแรงงานไทยในสิงคโปร์ ผมจะนำเสนอความรู้ที่ผมได้เรียนรู้จาก “ครู” ของผมในสิงคโปร์ออกเป็นข้อๆ เพื่อช่วยให้ตัวเองจัดระบบความคิดและการสื่อสารได้ง่ายและชัดเจนมากขึ้น ผมจัดแบ่งความรู้เกี่ยวกับชีวิตและชุมชนของแรงงานไทยสิงคโปร์ตามความเข้าใจของตัวเองออกเป็น 15 ข้อพร้อมสังเขปคำอธิบาย ดังต่อไปนี้
ข้อหนึ่ง แรงงานไทยในสิงคโปร์ไม่ใช่แรงงานไร้ทักษะฝีมือ พี่น้องแรงงานไทยในสิงคโปร์ซึ่งมีจำนวนประมาณ 40,000-42,000 คน (ข้อมูลของ สนร. สิงคโปร์ 2552) ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีทักษะฝีมือผ่านการทดสอบและมีประสบการณ์ทำงานมานาน อันนี้น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่นายจ้างสิงคโปร์ยินดีจ่ายค่าแรงคนไทย (23 ดอลลาร์ต่อวัน) สูงกว่าแรงงานต่างชาติจากหลายประเทศ เช่น จีน บังคลาเทศ หรืออินเดีย (ประมาณ 16 ดอลลาร์ต่อวัน) เส้นทางชีวิตของพี่น้องแรงงานไทยส่วนใหญ่มาจากชนบท จากบ้านเกิดเมืองนอนไปทำงานในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองเขตอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นหรือเรียนจบการศึกษาภาคบังคับ บางคนโชคดีที่ได้เรียนต่อชั้นมัธยมหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ ส่วนใหญ่พี่น้องแรงงานไทยเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานต่างประเทศในช่วงอายุตั้งแต่ 20 ปีตอนปลายจนถึง 40-50 ปีและแต่งงานมีครอบครัวแล้ว ผมเจอพี่น้องแรงงานที่เป็นวัยรุ่นน้อยมาก พวกเขาคือความหวังของครอบครัวเพราะเป็นผู้นำและกำลังหลักของครอบครัว ทั้งยังใช้เงินทุนหรือทรัพย์สินของครอบครัวจำนวนมากเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาทำงานต่างประเทศ นอกจากนี้ พี่น้องแรงงานไทยส่วนใหญ่ก็คือผ่านงานมาหลายประเทศ เช่น บรูไน ตะวันออกกลาง ไต้หวัน หรือเกาหลี เป็นต้น ชีวิตของพี่น้องแรงงานไทยในสิงคโปร์คือ ชีวิตคนขายแรง นักรบเศรษฐกิจ นักรบแรงงาน หรือ “พ่อค้าไม้แก่นล่อน” (จากเนื้อเพลง “ลุยคูเวต” ของ ซูซู) ตัวจริงเสียงจริง
ข้อสอง แรงงานไทยในประเทศสิงคโปร์ส่วนใหญ่จบการศึกษาภาคบังคับ (ป. 6 หรือ ม. 3) แต่ก็มีแรงงานรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช. ปวท. หรือ ปวส.) พี่น้องแรงงานที่อายุ 40-50 ปี ส่วนมากเรียนจบชั้นประถมศึกษา ผมเคยใช้แบบสอบถามสำรวจพี่น้องแรงงานที่ผมเชิญมาร่วมสนทนากลุ่มย่อยเรื่อง “โรคไหลตายกับสุขภาพแรงงานไทยในสิงคโปร์” เมื่อปีที่ผ่านมา จากจำนวนทั้งหมด 21 คน 17 คนจบชั้น ป. 4 หรือ ป. 6 อีก 2 คนจบชั้น ม. 3 ส่วนที่เรียนจบชั้น ม. 6 และปวช. มีเพียง 2 คนเท่านั้น แรงงานไทยส่วนใหญ่ทำงานในสิงคโปร์ต่อเนื่องกันประมาณ 10 ปีขึ้นไป (พัฒนา กิติอาษา 2552:46) ข้อค้นพบนี้ก็ตรงกับการสำรวจของนักวิชาการหลายท่านที่ใช้แบบสอบถามสำรวจในลักษณะเดียวกันแต่ใช้กลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่กว่า เช่น Wong (2000) และศรัญยา บุนนาคและเสาวภา ชัยมุสิก (2528) อย่างไรก็ตาม ระดับการศึกษาของพี่น้องแรงงานไทยในสิงคโปร์ในอนาคตน่าจะสูงขึ้น เพราะทางการของสิงคโปร์บังคับว่าจะต้องเป็นแรงงานที่ผ่านการศึกษาภาคบังคับ 9 ขึ้นไป (ม. 3) จึงจะมีสิทธิ์สมัครทดสอบวัดฝีมือแรงงานเพื่อเข้ามาทำงานในประเทศสิงคโปร์ ในอนาคต อาจเป็นไปได้ว่าคนงานรุ่นใหม่จากประเทศไทยที่มีเพียงประสบการณ์หรือฝีมือช่างอย่างเดียวเหมือนแรงงานรุ่นบุกเบิกเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้วอาจจะต้องหมดไปตามยุคตามสมัย
ข้อสาม แรงงานไทยในสิงคโปร์ส่วนใหญ่เลือกมาทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ เพราะค่าเงินดอลลาร์แพงเมื่อแลกเป็นเงินบาท (อัตราแลกเปลี่ยนปี พ.ศ. 2553 อยู่ที่ประมาณ 1 ดอลลาร์ต่อ 23 บาท) ค่านายหน้าไม่แพงเกินไปโดยเฉพาะพี่น้องแรงงานที่ผ่านการทดสอบฝีมือแรงงานและมีประสบการณ์การทำงานในสิงคโปร์มาก่อน ค่านายหน้าสำหรับคนที่เข้ามาทำงานครั้งแรกอาจจะสูงถึงหลักแสนบาทต่อคน แต่สำหรับคนที่ทำงานในประเทศนี้หลายครั้งค่าใช้จ่ายในการต่อใบอนุญาตทำงานอาจได้รับการยกเว้น หรือกรณีที่เปลี่ยนบริษัทอาจจะเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000-40,000 บาทเท่านั้น นอกจากนี้ ที่ตั้งของสิงคโปร์อยู่ใกล้เมืองไทย เดินทางไปมาสะดวกทั้งทางเครื่องบินและทางรถทัวร์ปรับอากาศผ่านชายแดนทางหาดใหญ่และมาเลเซีย วิถีชีวิตการกินอยู่และสภาพการทำงานก็ไม่แตกต่างจากเมืองไทยมาก ทำให้พี่น้องแรงงานไทยปรับตัวใช้ชีวิตและทำงานในประเทศนี้ได้ไม่ยาก พี่น้องคนงานคนหนึ่งเคยบอกผมว่า “เฮ็ดเวียกอยู่นี่กะคือเฮ็ดอยู่กรุงเทพฯ แต่บริษัทมีกฎระเบียบหลายกว่า พวกผมกะเก็บเงินได้หลายกว่า อยู่เมืองไทยเฮ็ดงานถ่อได๋เงินกะบ่เหลือ ค่าใช้จ่ายหลายโพด” และที่สำคัญ พี่น้องแรงงานไทยส่วนใหญ่ประทับใจสภาพบ้านเมือง การจัดการเศรษฐกิจและสังคม และการบังคับใช้กฎหมายของประเทศสิงคโปร์ ยอมรับว่าบ้านเมืองของสิงคโปร์เจริญรุ่งเรืองกว่าเมืองไทยมาก หลายคนก็ปรารถนาให้เมืองไทยได้พัฒนาอย่างสิงคโปร์บ้าง ใฝ่ฝันอยากให้เมืองไทยสุขสงบและพัฒนาไปไกลปราศจากความสับสนวุ่นวายทางการเมืองและเศรษฐกิจตกต่ำการทำมาหากินที่ฝืดเคืองในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
ข้อสี่ แรงงานไทยในสิงคโปร์ต้องเสี่ยงอันตรายจากการทำงานโดยเฉพาะงานก่อสร้างแขนงต่างๆ ในใบอนุญาตทำงานที่ออกให้โดยกระทรวงแรงงานของสิงคโปร์ (Ministry of Manpower) ระบุว่าพี่น้องแรงงานไทยในสิงคโปร์เกือบทั้งหมดเป็นแรงงานก่อสร้าง (construction worker) งานก่อสร้างในที่นี้ครอบคลุมประเภทงานและทักษะฝีมือหลายแขนง เช่น งานปูน งานไม้ งานไฟฟ้า งานเชื่อม งานทาสีและตกแต่งภายใน งานประปา งานหลังคาและกันซึม งานนั่งร้าน งานขุดเจาะ ฯลฯ ที่สำคัญ งานก่อสร้างเป็นงานเสี่ยงอันตรายต่ออุบัติเหตุในที่ทำงานและต้องทำงานคลุกคลีอยู่กับสารเคมีที่เป็นพิษต่อระบบการหายใจ หรือต้องทำงานในสภาพแวดล้อมของการทำงานที่เสี่ยงอันตรายมาก เช่น อุโมงค์ใต้ดินที่ขาดอากาศหายใจ ขุดเจาะที่ร่างกายต้องทนกับแรงกระแทกกระเทือน หรือฝุ่นละอองที่มีผลต่อระบบหายใจ แม้ว่าทางราชการของสิงคโปร์จะบังคับใช้มาตรการป้องกันอุบัติภัยในที่ทำงานอย่างเคร่งครัด แต่เราก็ได้ข่าวสารเกี่ยวกับการเสียชีวิตของแรงงานต่างชาติเพราะอุบัติเหตุในที่ทำงานจากสื่อมวลชนของสิงคโปร์เป็นประจำ เช่น กรณีเครนก่อสร้างล้มทับคนงาน หรือกรณีคนงานทาสีในอุโมงค์ต้องเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ หรือสูดดมอากาศพิษจากกลิ่นสีและกลิ่นทินเนอร์ กรณีเหล่านี้ ไม่นับรวมอาการบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ อาการเจ็บป่วยเพราะโรคประจำตัวหรือไข้หวัดเล็กน้อย หรือสุขภาพร่างกายที่สึกหรอเสื่อมโทรมลงทุกปีเพราะอายุขัยที่มากขึ้นและต้องเผชิญกับภาวะการทำงานหนักเป็นเวลานาน พี่น้องแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติในประเทศสิงคโปร์ต้องเผชิญกับชั่วโมงการทำงานแต่ละวันที่ยาวนาน เช่น ตั้งแต่ 7 โมงเช้าจนถึง 6 โมงเย็น บ่อยครั้งก็ต้องทำงานล่วงเวลาจนถึงเที่ยงคืน ในรอบหนึ่งสัปดาห์ต้องทำงานตั้งแต่จันทร์ถึงเสาร์ มีวันอาทิตย์เป็นวันหยุดพักผ่อนเพื่อพักฟื้นสภาพร่างกายเพียงวันเดียว
ข้อห้า แรงงานไทยในสิงคโปร์ต้องเสี่ยงชีวิตกับโรคไหลตาย (sudden unexplained nocturnal death syndrome--SUNDS) พี่น้องแรงงานไทยในสิงคโปร์กับโรคไหลตายเป็นข่าวสารข้อมูลที่ตรึงแน่นอยู่ในการรับรู้ของสาธารณชนมานาน อาการไหลตายก็คือ การเสียชีวิตอย่างปัจจุบันทันด่วน เกิดขึ้นกับคนวัยทำงานที่มีสภาพร่างกายปกติ ดูภายนอกแข็งแรง และทำงานได้ตามปกติ แต่เสียชีวิตในระหว่างที่นอนหลับพักผ่อน คนงานไทยในสิงคโปร์มีสถิติการไหลตายสูงมากมาตั้งแต่เริ่มต้นที่บรรดากองทัพคนงานไทยบุกสิงคโปร์จำนวนมากในราว พ.ศ. 2525 ต้นมา รายงานเกี่ยวกับคนงานก่อสร้างไทยในสิงคโปร์เสียชีวิตด้วยโรคไหลตาย ระหว่างปีเดือนพฤษภาคม 2525 - มีนาคม 2533 พบว่า ยอดคนงานไทยในสิงคโปร์เสียชีวิตด้วยโรคไหลตายรวมทั้งสิ้น 161 คน ทั้งหมดเป็นแรงงานเพศชาย เสียชีวิตโดยไม่มีอาการเจ็บป่วยมาก่อน ร้อยละ 80 ของผู้ตายเป็นแรงงานก่อสร้างมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อายุระหว่าง 21-54 ปี อายุเฉลี่ย 34 ปี ทุกวันนี้ โรคไหลตายยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของแรงงานไทยในประเทศสิงคโปร์โดยเฉพาะในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2540-2550 ผมอาศัยข้อมูลตัวเลขจากการออกมรณะบัตรของแผนกกงสุล สถานเอกอัครราชทูตไทยในสิงคโปร์เป็นเครื่องยืนยัน ในช่วงดังกล่าว แรงงานไทยเสียชีวิตด้วยโรคไหลตาย ซึ่งแพทย์ระบุสาเหตุอย่างเป็นทางการว่า หัวใจล้มเหลว (heart failure) จำนวน 260 ราย จากยอดรวมของผู้เสียชีวิตจากทุกสาเหตุทั้งหมด 517 ราย คิดเป็นร้อยละ 50.29 ของยอดรวมผู้เสียชีวิตทั้งหมด กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แรงงานไทยเสียชีวิตด้วยโรคไหลตายโดยเฉลี่ย 23.63 คนต่อปี ผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นแรงงานชายอายุระหว่าง 30-50 ปี ตัวเลขดังกล่าวถือว่าค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติในช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2525-2533 ซึ่งมียอดผู้เสียชีวิต 161 คน เฉลี่ย 20.12 คนต่อปี (พัฒนา กิติอาษา 2552)
คำถามก็คือ ทำไมคนงานไทยจึงไหลตายมาก (คนงานไทยที่ทำงานในไต้หวันและประเทศตะวันออกกลางก็มีรายงานเกี่ยวกับโรคไหลตายเหมือนกัน) โรคไหลตายมีสาเหตุมาจากอะไร ข้อวินิจฉัยทางการแพทย์ระบุว่า หัวใจล้มเหลว ค่าโปรแตสเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ หัวใจทำงานผิดปกติเนื่องมาจากการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มบางชนิดและสาเหตุทางกรรมพันธุ์ รวมทั้งต้องเผชิญกับการทำงานหนักและพักผ่อนไม่เพียงพอเป็นเวลานาน เมื่อปีที่แล้ว ผมมีโอกาสจัดการสนทนากลุ่มย่อยเรื่องนี้กับพี่น้องแรงงานไทยในสิงคโปร์กลุ่ม ผมได้เรียนรู้ว่า แรงงานไทยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคไหลตาย รวมทั้งมีความสามารถในการวิเคราะห์สาเหตุ อาการและเงื่อนไขการทำงานและการใช้ชีวิตในสิงคโปร์อย่างละเอียดและเป็นองค์รวม ผู้เข้าร่วมสนทนาชี้ให้เห็นว่า โรคไหลตายเกี่ยวข้องโดยตรงกับลักษณะงานที่ทำในสิงคโปร์ (เช่น งานใช้แรงงานอย่างหนัก งานอันตราย ค่าจ้างต่ำ ต้องทำงานล่วงเวลา และถูกเอารัดเอาเปรียบ อาหารการกินและที่พักไม่ถูกสุขลักษณะ ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มบำรุงกำลังมากเกินไป พักผ่อนไม่เพียงพอ ฯลฯ) ความเครียดและวิตกกังวล การใช้ชีวิตทางสังคมที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ สาเหตุทางกรรมพันธุ์ และความเชื่อเรื่องวิญญาณ ในทัศนะของแรงงานไทยนั้น โรคไหลตายไม่อาจจะแยกออกมาพิจารณาเป็นส่วนๆ เช่น หัวใจ สุขภาพจิต ฯลฯ หากจะต้องพิจารณาเชื่อมโยงกันระหว่างสุขภาพกาย สุขภาพจิตและชีวิตทางสังคมของแรงงานไทยในต่างแดน
ข้อหก แรงงานไทยในสิงคโปร์ต้องเผชิญกับปัญหาการใช้ภาษาเพื่อสื่อสารกับนายจ้างและเพื่อนร่วมงานต่างชาติ รวมทั้งเสียเปรียบเพราะไม่รู้กฎหมาย ไม่เข้าใจรายละเอียดในสัญญาจ้างงานและไม่เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของนายจ้าง เรื่องภาษาเป็นปัญหาใหญ่ของแรงงานไทยแทบทุกคน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานทั่วไปหรือระดับหัวหน้างานขึ้นไป พี่น้องแรงงานของเราพูดไม่ได้ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษามาเลย์ การสื่อสารในหน้าที่การงานหรือชีวิตทางสังคมเป็นไปอย่างจำกัดโดยเฉพาะพี่น้องแรงงานที่เข้ามาทำงานที่สิงคโปร์เป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม พี่น้องแรงงานไทยที่ผมรู้จักหลายคนก็สามารถเรียนรู้ภาษาต่างๆ และประยุกต์ใช้งานจนเอาตัวรอดได้ หลายคนโดยเฉพาะที่ทำงานในสิงคโปร์มานานหลายปีหรือที่เคยผ่านการทำงานในไต้หวันมาก่อนสามารถใช้ภาษาจีนได้ดี ทำให้นายจ้างมองเห็นความสามารถ ส่งไปอบรมแล้วขึ้นค่าแรงให้ หรือเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นหัวหน้างานก็มี แต่โดยทั่วไปแล้ว ภาษาต่างประเทศเป็นต้นทุนที่ติดลบของพี่น้องแรงงานไทยเราตลอดมา แม้เราจะมีฝีมือในการทำงานมีความขยันขันแข็งและอดทนเป็นที่ยอมรับ แต่พื้นฐานความรู้ด้านภาษาและพื้นฐานการศึกษาดั้งเดิมทำให้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาความก้าวหน้าของเส้นทางสายอาชีพในประเทศสิงคโปร์
ข้อเจ็ด แรงงานไทยในสิงคโปร์ไม่ได้รับค่าจ้างแรงงานอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยเฉพาะค่าทำงานล่วงเวลา เรื่องเงินค่าจ้างแรงงานเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของชีวิตคนขายแรง เพราะค่าแรงคือดอกผลที่มาจากหยาดเหงื่อแรงงานและความเหนื่อยยาก พี่น้องแรงงานที่ผมมีโอกาสพูดคุยด้วยเล่าให้ฟังว่า ค่าจ้างรายวันที่ระบุในสัญญาจ้างงานไม่ค่อยเป็นปัญหา นายจ้างมักจะจ่ายตามนั้นเพราะเป็นข้อบังคับกฎหมายแรงงาน แต่นายจ้างก็จะมีวิธีการที่เอารัดเอาเปรียบเสมอ เช่น ไม่จ่ายค่าจ้างทำงานนอกเวลาเป็นสองเท่าในการทำงานวันอาทิตย์หรือวันหยุดที่ทางการรับรองตามที่กำหนดในกฎหมายแรงงาน หรือจ่ายค่าจ้างทำงานนอกเวลาเพียงบางส่วนโดยไม่นับจำนวนชั่วโมงทำงานให้ตามความเป็นจริง หรือบางกรณีก็เลวร้ายถึงขั้นเบี้ยวไม่จ่ายเลยก็มี เนื่องจากนายจ้างมีเล่ห์เหลี่ยมหลากหลายในการเอารัดเอาเปรียบคนงาน ชีวิตแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติในสิงคโปร์ต้องขึ้นอยู่กับโชคชะตาหรือวาสนาไม่น้อย หลายคนบอกผมว่า ขึ้นอยู่กับดวง ใครดวงดีก็ได้เถ้าแก่ใจดี ตรงไปตรงมาหรือเห็นอกเห็นใจคนงาน แต่ใครดวงร้ายก็ต้องลำบาก บางคนก็อดทนอยู่ให้ครบสัญญา บางคนที่ทนไม่ไหวก็ขอยกเลิกสัญญาเพื่อกลับบ้าน แล้วหาสมัครงานกับบริษัทใหม่
ข้อแปด แรงงานไทยในสิงคโปร์มีชื่อเสียงในเรื่องทักษะฝีมือและความขยันขันแข็งอดทนในการทำงาน แต่มีชื่อเสียในเรื่องการกินเหล้าเมามายจนควบคุมอารมณ์และสติสัมปชัญญะของตัวเองไม่ได้ คำกล่าวนี้เป็นเสมือนภาพลักษณ์แบบเหมารวมของคนสิงคโปร์และสังคมสิงคโปร์ที่มีต่อแรงงานไทยที่ใช้ชีวิตและทำงานในประเทศของพวกเขาตลอดเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา นายจ้างและสังคมสิงคโปร์ให้การยอมรับเรื่องคุณภาพฝีมือแรงงานและความอดทนขยันขันแข็งสู้งานของพี่น้องแรงงานไทย แต่พวกเขาก็ออกจะเอือมระอาในเรื่องของการกินเหล้าเมามาย ทะเลาะเบาะแว้ง หาเรื่องชกต่อยและอาละวาดของพี่น้องแรงงานไทย โดยเฉพาะแรงงานรุ่นหนุ่มและรุ่นกลางคน พวกเขาพูดเสมอว่า เถ้าแก่หรือนายจ้างสิงคโปร์อยากได้แรงงานไทยมากกว่าแรงงานจากอินเดีย บังคลาเทศ หรือจีน ทำงานได้มีคุณภาพ ไม่อู้งาน เรียนรู้งานเร็ว และมีความเป็นผู้นำ แต่อย่าให้แรงงานไทยได้ตั้งวงก๊งสุราก็แล้วกัน ภาพคนงานไทยตั้งวงสนุกสนานเมามายจนเกินขอบเขตหาดูได้ไม่ยากแถวโกลเด้นไมล์และละแวกใกล้เคียงในช่วงบ่ายวันอาทิตย์ ในแง่นี้ แรงงานไทยในสายตาของคนสิงคโปร์ก็ไม่ต่างจากแรงงานจากชาติอื่นที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ มักจะถูกมองด้วยสายตาดูถูกเหยียดหยาม ถ้าไม่จำเป็นคนสิงคโปร์จะไม่เข้ามาสนิทสนมกับแรงงานต่างชาติ พวกเขาได้วางระยะห่างทางสังคมและกำหนดขอบเขตพื้นที่ทางสังคมไว้อย่างชัดเจน
ข้อเก้า แรงงานไทยในสิงคโปร์เป็นความหวังของครอบครัว ในทันทีที่พวกเขาหิ้วกระเป๋าก้าวเดินลงบันไดบ้านเพื่อบ่ายหน้าสู่ถนนสายแรงงานข้ามชาติ พวกเขาต้องแบกรับความกดดันที่หนักอึ้งจากภาระรับผิดชอบทางบ้านไว้เต็มสองบ่า ภาระดังกล่าวมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า พวกเขาคือพ่อ สามี หรือลูกชาย ต้องเป็นกำลังหลักหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว พวกเขาเดินทางมาทำงานต่างประเทศด้วยเงินทุนที่มาจากเงินออมของครอบครัว หรือเงินที่มาจากการกู้ยืมหรือจำนองทรัพย์สินของครอบครัว ภาระบนสองบ่าของพวกเขาในที่นี้ต้องรวมดอกเบี้ยเงินกู้และเดิมพันอนาคตด้วยใบโฉนดที่บ้านหรือที่นาที่อยู่ในมือของธนาคารหรือนายทุนเงินกู้ นอกจากนี้ พี่น้องแรงงานไทยที่สิงคโปร์ต่างก็ตระหนักว่า ค่าใช้จ่ายรายวันหรือรายเดือนที่เลี้ยงดูปากท้องของคนทางบ้าน ค่าเล่าเรียนของลูกหลาน ค่าลงทุนกิจกรรมในไร่นา หรือค่าผ่อนบ้านผ่อนรถยนต์ต่างๆ ของแต่ละครอบครัว ล้วนแต่ต้องรอคอยค่าจ้างแรงงานของพวกเขาที่เถ้าแก่จ่ายให้ที่สิงคโปร์ พี่น้องแรงงานไทยในสิงคโปร์ในสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการศึกษาของลูกหลานตัวเองมากที่สุด หลายคนที่ผมมีโอกาสพูดคุยด้วยต่างพูดชัดเจนว่า ไม่อยากให้ลูกหลานต้องมาลำบากตรากตรำเป็นแรงงานข้ามชาติเหมือนตัวเอง อยากให้ทุกคนได้เรียนหนังสือมีหน้าที่การงานดี มีเงินเดือนหรืออาชีพมั่นคง ไม่ต้องมาเป็นลูกจ้างทำงานใช้แรงงานพลัดพรากครอบครัวและบ้านเกิดเมืองนอน อีกทั้งผู้คนก็ดูถูกเหยียดหยามเหมือนกับที่ตัวเองกำลังประสบอยู่ พี่น้องแรงงานส่วนใหญ่ต่างก็ตระหนักในภาระความรับผิดชอบอันหนักอึ้งของตนเองเป็นอย่างดี บางคนต้องตกอยู่ในสภาพที่เครียดจัด ไหนจะทำงานเหนื่อยและหนักทางกายแล้ว ทางจิตใจยังต้องครุ่นคิดถึงภาระต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ยิ่งได้ติดต่อพูดคุยโทรศัพท์กับสมาชิกในครอบครัวทุกวัน รับรู้ข่าวคราวความเคลื่อนไหวต่างๆ ยิ่งทำให้พี่น้องแรงงานได้ตระหนักถึงความหนักหน่วงของภาระทางบ้านเป็นเท่าทวี
ข้อสิบ แรงงานไทยในสิงคโปร์มีความรับผิดชอบในการส่งเงินกลับบ้านสูงมาก การส่งเงินกลับบ้านเป็นการแสดงความรับผิดชอบในฐานะลูกผู้ชายผู้นำครอบครัวในเชิงเศรษฐกิจและในเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญที่สุด ครอบครัวทางบ้านและสังคมเพื่อนบ้านจะตัดสินความสำเร็จหรือล้มเหลวของการเดินทางมาทำงานต่างประเทศของแต่ละคนจากปริมาณและความสม่ำเสมอของเงินรายได้ที่แต่ละคนส่งกลับบ้าน รวมทั้งความสามารถในการบริหารจัดการเงินรายได้ดังกล่าวของครอบครัวทางบ้านโดยเฉพาะคนที่ทำหน้าที่เป็นภรรยาผู้ดูแลอยู่ทางบ้าน ข้อมูลล่าสุดที่ผมสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กในการประชุมกลุ่มย่อยเรื่อง “โรคไหลตายกับสุขภาพแรงงานไทยในสิงคโปร์” พบว่า แรงงานไทยมีรายได้เฉลี่ย 21,670 บาทต่อเดือน จากรายได้เฉลี่ยจำนวนนี้พี่น้องแรงงานไทยส่งเงินกลับบ้านโดยเฉลี่ยร้อยละ 67.83 (14,700 บาท) (พัฒนา กิติอาษา 2552) ในที่นี้ก็หมายความว่า ในแต่ละเดือนพี่น้องแรงงานไทยเก็บเงินไว้ใช้จ่ายส่วนตัวเพียงร้อยละ 32.17 เท่านั้น แต่ละคนต้องเก็บออม ประหยัดใช้ประหยัดจ่ายในส่วนของค่ากินอยู่ ค่าของใช้ส่วนตัว ค่าบัตรโทรศัพท์ ค่าบัตรรถโดยสาร รวมทั้งค่าพักผ่อนหย่อนใจส่วนตัว ผมช่วยสมาคมเพื่อนแรงงานไทยจัดตั้งกองทุนกู้ยืมฉุกเฉินสำหรับแรงงานไทยที่เดือดร้อนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพบว่า พี่น้องแรงงานที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ และเป็นอาสาสมัครแรงงานของสำนักงานแรงงานไทยในสิงคโปร์ต่างก็เดือดร้อนเงินขาดมือมาขอกู้ยืมไปใช้จ่ายเป็นค่ายังชีพฉุกเฉินระหว่างที่เงินเดือนยังไม่ออกจำนวนมาก หลายคนบอกผมว่า แรงงานไทยจำนวนมากต้องกู้ยืมเงินนอกระบบจากแม่ค้าหรือเจ้าของร้านค้าในโกลเด้นไมล์ พวกเขาต้องเสียค่าดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 20 ต่อเดือน ทั้งยังต้องถูกยึดบัตรเอทีเอ็มและใบอนุญาตทำงานไว้เป็นประกันด้วย
ข้อสิบเอ็ด แรงงานไทยในสิงคโปร์ผูกพันกับโกลเด้นไมล์ ศูนย์กลางของชีวิตทางสังคมของแรงงานไทยในสิงคโปร์คือ โกลเด้นไมล์ ผมคิดว่าไม่มีพี่น้องแรงงานไทยในสิงคโปร์ท่านไม่รู้จักห้างสรรพสินค้าหรือแหล่งรวมสารพัดสินค้าและบริการ และสถานบันเทิงที่เลื่องชื่อแห่งนี้ คนสิงคโปร์และคนต่างชาติเรียกอาคารโกลเด้นไมล์ว่า ลิตเติ้ลไทยแลนด์ หรือลิตเติ้ลแบงค็อก พี่น้องแรงงานไทยนัดพบกันและเดินทางไปจับจ่ายใช้สอย ซื้อข้าวปลาอาหาร ส่งเงินกลับบ้าน กินอาหารไทยอาหารพื้นบ้านให้หายคิดถึงบ้าน ซื้อตั๋วเครื่องบินหรือรถทัวร์โดยสาร นัดสังสรรค์กับเพื่อนฝูงตามแหล่งบันเทิง เช่น คาราโอเกะบาร์ ดิสโก้เธค ฯลฯ หรือแม้กระทั่งติดต่อซื้อบริการทางเพศจากผู้หญิงขายบริการ เรียกได้ว่า ทุกอย่างที่พี่น้องแรงงานไทยต้องการหาได้ที่ใต้ชายคาของโกลเด้นไมล์ เพียงแค่ขอให้ท่านมีเงินอยู่ในมือเท่านั้น อาจกล่าวได้ว่า ธุรกิจและชื่อเสียงของอาคารโกลเด้นไมล์มาจากแรงสนับสนุนของพี่น้องแรงงานไทยเป็นหลัก เดิมทีเดียวอาคารแห่งนี้ได้รับการพัฒนาให้เป็นย่านธุรกิจการค้าตามแนวถนนบีชโร้ดเพื่อให้เป็นคู่แข่งของย่านออร์ชาร์ดโร้ดมาตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1970 นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มองการณ์ไกลว่า ทำเลย่านนี้น่าจะเหมาะสำหรับอาคารสำนักงาน โรงแรม โรงหนัง และย่านช้อปปิ้งชั้นนำ แต่แล้วธุรกิจก็ซบเซาเพราะอยู่ห่างจากศูนย์กลางของเมืองเกินไป จนกระทั่งราวกลางทศวรรษที่ 1980 เมื่ออาคารโกลเด้นไมล์ถูกใช้เป็นสถานีรถทัวปรับอากาศรับส่งผู้โดยสารระหว่างสิงคโปร์ มาเลเซีย และหาดใหญ่ กองทัพแรงงานจากเมืองไทยขึ้นลงรถที่นี่ นายหน้ามารับส่งคนงานไปตามบริษัทต่างๆ ที่นี่ ธุรกิจการค้าที่สนองความต้องการของคนงานไทยจึงเริ่มต้นขยายตัว โกลเด้นไมล์เลยกลายมาเป็นศูนย์กลางของแรงงานไทยนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แม้ว่าในวันธรรมดาจะมีลูกค้าคนสิงคโปร์และคนไทยกลุ่มอื่น แต่พี่น้องแรงงานไทยเป็นลูกค้ากลุ่มที่สำคัญที่สุดของโกลเด้นไมล์ ในวันอาทิตย์ที่พวกเขาได้รับเงินค่าจ้าง โกลเด้นไมล์จะคึกคักกว่าปกติ ในวันเทศกาลสำคัญ เช่น สงกรานต์ ลอยกระทง ทั้งตึกจะคราคร่ำไปด้วยคนงานไทย ทั้งยังขยายตัวไปนั่งล้อมวงจับกลุ่มตามที่จอดรถ ใต้ถุนตึกอพาร์ตเมนท์ที่อยู่ข้างเคียง หรือพื้นที่ว่างทั้งสองฝั่งถนนของอาคารโกลเด้นไมล์
ข้อสิบสอง แรงงานไทยในสิงคโปร์จัดผ้าป่าแรงงานด้วยความผูกพันกับบ้านเกิดเมืองนอนและส่งเสริมความสามัคคีในหมู่คณะ การจัดตั้งกองผ้าป่าเพื่อระดมเงินบริจาคและส่งเงินบริจาคไปร่วมทำบุญทางบ้านเป็นกิจกรรมทางสังคมที่สำคัญของแรงงานไทยในสิงคโปร์ และชุมชนคนไทยในต่างแดนทั่วโลก กิจกรรมดังกล่าวเริ่มต้นจากการติดต่อของเจ้าภาพทางบ้านที่ประสงค์จะทำบุญผ้าป่าเพื่อสร้างสิ่งสาธารณประโยชน์ต่างๆ เช่น อาคารเรียน หอสมุด ศาลาวัด ตัดถนน สร้างถังเก็บน้ำฝน ฯลฯ เจ้าภาพหรือผู้นำชุมชนจะขอให้ลูกหลานจากหมู่บ้านที่ทำงานในสิงคโปร์ร่วมเป็นเจ้าภาพและรับซองผ้าป่าจากทางบ้านไปช่วยแจกจ่ายระดมเงินทำบุญจากเพื่อนร่วมงานในสิงคโปร์ ฝ่ายลูกหลานที่ทำงานในสิงคโปร์ก็ช่วยกันนัดเพื่อนฝูง เพื่อนร่วมหมู่บ้าน หรือเพื่อนที่เคยช่วยทำผ้าป่ามาแล้วกระจายซองผ้าป่า พี่น้องแรงงานไทยในสิงคโปร์ส่วนใหญ่ไม่ปฏิเสธการทำบุญตามแต่ศรัทธา เช่น ใส่ซองละ 1-2 เหรียญ เป็นต้น หลายคนเคยบอกผมว่าในแต่ละปี คนงานแต่ละคนต้องใส่ซองอาจจะถึง 40-50 ซอง เพราะผ้าป่ามีทุกเดือนจากหลายกลุ่มหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ต่างคนก็ถือว่าช่วยกันทำบุญ พอรวบรวมซองได้ ผู้นำก็จะนัดหมายกันเปิดซองโดยใช้สถานที่แถวโกลเด้นไมล์ สวนสาธารณะ หรือใต้ถุนตึกอพาร์ตเมนท์ จัดเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่มเหมือนกับงานบุญที่หมู่บ้าน กรรมการก็นับเงิน ต่อยอดเงินบริจาคเพื่อเพิ่มจำนวนเงินให้ได้ตัวเลขสวยงามเป็นศิริมงคล แล้วก็ส่งเงินกลับบ้านโดยการโอนผ่านบัญชีธนาคารไปให้ผู้นำชุมชน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน หรือนายก อบต. ผู้เป็นกรรมการผ้าป่าแต่ละครั้งเพื่อสมทบทุน แม้ทางการสิงคโปร์จะพยายามห้ามปราม บางกรณีก็เข้าจับกุมเพราะถือว่าเป็นการเรี่ยไรเงินที่ไม่ได้รับอนุญาต แต่ผมเชื่อว่ากิจกรรมทำบุญเพื่อสร้างสิ่งสาธารณประโยชน์และแสดงออกถึงความผูกพันกับถิ่นฐานบ้านเกิดของพี่น้องแรงงานไทยน่าจะดำรงอยู่ต่อไปอีกนาน
ข้อสิบสาม แรงงานไทยในสิงคโปร์จำนวนมากประสบความล้มเหลวทางครอบครัว ชีวิตครอบครัวและชีวิตการทำงานต่างแดนของพี่น้องแรงงานไทยในสิงคโปร์และในประเทศต่างๆ เช่น ซาอุดิอาระเบีย คูเวต ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น บรูไน อิสราเอล ฯลฯ กลายมาเป็นข้อมูลเชิงคติชนวิทยาและเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินเพลงเพื่อชีวิต ลูกทุ่งและหมอลำ ผลิตงานเพลงออกมาเป็นจำนวนมาก เนื้อเพลง เช่น ควายไทยในสิงคโปร์ (ลูกแพร-ไหมไทย) สิงคโปร์ (คาราบาว) แฟนตายในสิงคโปร์ (พิกุล ขวัญเมือง) ลำล่องเมืองสิงคโปร์ (เดชา นิติอินทร์) ต่างก็สะท้อนความจริงที่ปวดร้าวของชีวิตพี่น้องแรงงานไทยและครอบครัว โดยเฉพาะกรณีที่สามีห่างบ้านไปทำงานต่างประเทศหลายปี ด้วยความเหินห่างหรือด้วยสาเหตุต่างๆ ได้นำไปสู่ปัญหาชู้สาว ปัญหาครอบครัวแตกแยก และปัญหาบริหารจัดการเรื่องเงินทองที่ล้มเหลว ผมขอให้พี่น้องแรงงานผู้เข้าร่วมการประชุมกลุ่มย่อย 2 ครั้ง ( 2549 และ 2552) ช่วยประมาณการว่า จากตัวเลขสมมติ 100 คน พี่น้องแรงงานไทยประสบความล้มเหลวเรื่องชีวิตครอบครัวจนต้องหย่าร้างหรือแตกแยกมีประมาณกี่คน คำตอบที่ตรงกันทั้ง 2 ครั้งก็คือ ประมาณ 70 คนหรือร้อยละ 70 เป็นอย่างน้อย (พัฒนา กิติอาษา 2552; Pattana Kitiarsa 2006) ตัวเลขดังกล่าว แม้จะมาจากการประมาณการหรือคาดคะเน แต่พี่น้องแรงงานที่ผมสัมภาษณ์ล้วนแต่เคยพบเห็นและได้ยินได้ฟังเรื่องเมียมีชู้ ผัวติดสาวที่สิงคโปร์ เมียหอบเงินที่สามีส่งกลับบ้านไปบำเรอชู้ ฯลฯ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของบรรดานักรบแรงงานไกลบ้านไปเสียแล้ว
ข้อสิบสี่ แรงงานไทยในสิงคโปร์มีช่องทางในการพักผ่อนหย่อนใจและชีวิตทางสังคมของตัวเอง ในโลกกลางคืนของพี่น้องแรงงานไทยนั้น ผมมีโอกาสติดตามและเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมของพี่น้องแรงงานหลายท่าน หลายอย่างที่ผมเห็นและได้เรียนรู้ได้ช่วยเปิดหูเปิดตาผมเป็นอย่างมาก เช่น ไปกินข้าวป่าและลงตาข่ายดักปลาในวันหยุดแถว Choa Chu Kang แอบปลอมตัวเป็นคนงานเข้าไปดูห้องพักและ ความเป็นอยู่ของพี่น้องแรงงานไทยในหอพักคนงานต่างชาติที่ Jurong East และ Kaki Bukit ไปร่วมสังเกตการณ์ชีวิตกลางคืนของหนุ่มๆ คนงานที่ซ่องกลางป่าและวงไฮโลกลางแจ้งหลายที่ ร่วมแข่งขันฟุตบอลแรงงาน ช่วยจัดกิจกรรมวันแรงงานและวันชาติ รวมทั้งร่วมสังเกตชีวิตกลางคืนที่โกลเด้นไมล์ Geylang และ Orchard Tower ผมเข้าใจว่า ชีวิตยามว่างของพี่น้องแรงงานไทยเป็นอีกโลกหนึ่ง เป็นอีกสังคมหนึ่งที่อยู่ตรงข้ามกับช่วงกลางวันที่ต้องตรากตรำทำงาน ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบและสายตาของหัวหน้างานอย่างเคร่งครัด ต้องแต่งตัวด้วยเสื้อผ้ามอมแมมนั่งรถบรรทุกไปกลับทำงานทุกเช้าเย็น รวมทั้งต้องระโหยโรยแรงเหนื่อยกายเหนื่อยใจตลอดเวลา แต่ในโลกกลางคืนแล้ว พี่น้องแรงงานไทยมีพื้นที่ของตัวเอง มีอิสรภาพและความเป็นตัวของตัวเองยิ่งนัก ใครใคร่สนุกสนานเฮฮาตั้งวงกับเพื่อนหรือออกไปเที่ยวข้างนอกก็ทำได้ หนุ่มๆ ที่คบหาเพื่อนสาวต่างชาติจากฟิลิปปินส์หรืออินโดนีเซียก็ย่อมทำได้อย่างเต็มที่ ผมคิดว่าพื้นที่และโลกกลางคืน รวมทั้งชีวิตในวันหยุดตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้มีส่วนช่วยคลายความเครียด ชุบชูจิตใจ และลดทอนแรงกดดันต่างๆ ในชีวิตของพี่น้องแรงงานไทยได้มากพอสมควร
ข้อสิบห้า แรงงานไทยในสิงคโปร์ติดต่อกับครอบครัวและญาติพี่น้องอย่างสม่ำเสมอ พี่น้องคนงานไทยเชื่อมโยงและติดต่อกับทางบ้านด้วยการใช้โทรศัพท์มือถือ มีบางส่วนเท่านั้นที่สามารถซื้อคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปและสื่อสารออนไลน์ได้ พี่น้องแรงงานไทยทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นเครื่องมือการสื่อสารที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน มือถือมีความหมายมากกว่าเครื่องมือสื่อสาร มือถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความหมายให้กับชีวิตและจินตนาการทางสังคมของพี่น้องแรงงานไทยในสิงคโปร์ที่สำคัญที่สุด มือถือพกพาได้ ใช้สะดวกทุกที่ทุกเวลา ทั้งยังให้ความรู้สึกของการพูดคุยตอบโต้ได้ในทันที ให้ความเป็นส่วนตัวสร้างสถานการณ์ของการตอบสนองหรือการสื่อสารทางอารมณ์ความรู้สึกระหว่างคู่สนทนาทั้งสองฝ่ายได้อย่างลื่นไหล ต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน ราวกับว่าระยะห่างทางกายภาพไม่มีความสำคัญอีกต่อไป นอกจากนี้ มือถือยังช่วยเติมเต็มในส่วนของความรู้สึกและจินตนาการที่เรียกว่า อิสรภาพและความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของแรงงานไทยในสิงคโปร์ที่ขาดหายไป ทั้งนี้เพราะด้วยสถานภาพคนงานต่างชาติ พวกเขาย่อมตกอยู่ภายใต้การควบคุมทั้งในช่วงทำงานและช่วงการพักผ่อนตามหอพักคนงานต่างชาติที่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
นอกจากนี้ ผมสังเกตเห็นว่า พี่น้องแรงงานไทยสนใจติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างใกล้ชิด ผมเห็นคนงานตั้งวงนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ กินเบียร์ หรือกินข้าวที่โกลเด้นไมล์จนคุ้นชิน หลายคนก็พูดคุยเรื่องข่าวสารการเมือง หนังสือพิมพ์รายวัน เช่น ไทยรัฐ เดลินิวส์ สยามกีฬา นิตยสารรายสัปดาห์หรือรายปักษ์ รวมทั้งหนังสือประเภทอื่นๆ ล้วนแต่หาซื้อได้ตามร้านค้าในโกลเด้นไมล์ พี่น้องแรงงานไทยยังติดตามกระแสดนตรี เพลงฮิต หรือภาพยนตร์ใหม่ที่กำลังดังที่เมืองไทยอย่างใกล้ชิด พี่น้องแรงงานไทยในสิงคโปร์มีสิทธิ์ใช้เสียงเลือกตั้งได้ที่สถานเอกอัครราชทูต ถนนออร์ชาร์ด เจ้าหน้าที่สถานทูตได้จัดให้มีการลงทะเบียนเลือกตั้งและใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าเป็นประจำตามวาระการเลือกตั้งของประเทศ
กล่าวโดยสรุปแล้ว ผมนำเสนอความรู้แง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับชีวิตและชุมชนของบรรดาพี่น้องแรงงานไทยในประเทศสิงคโปร์ เท่าที่ผมได้มีโอกาสสัมผัสและเรียนรู้ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ผมแบ่งความรู้ดังกล่าวออกเป็น 15 ข้อ มีเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่ลักษณะทั่วไป สภาพการทำงาน สภาพชีวิตความเป็นอยู่ ปัญหาและอุปสรรคในการทำงานและการใช้ชีวิตในฐานะแรงงานต่างชาติในสิงคโปร์ และนักรบแรงงานไกลบ้านจากเมืองไทย ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งละอันพันละน้อยที่ผมได้เรียนรู้มาและอยากจะแบ่งปันกับทุกท่าน หวังว่าความรู้เหล่านี้จะช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตและชุมชนของพี่น้องแรงงานไทยในสิงคโปร์ที่ถูกต้องตามสภาพความเป็นจริง อันจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายหรือการพัฒนากิจกรรมต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องแรงงานไทยในประเทศสิงคโปร์ต่อไปในอนาคต

เอกสารอ้างอิง
พัฒนา กิติอาษา. โรคไหลตายกับสุขภาพแรงงานไทยในสิงคโปร์. รายงานการสนทนากลุ่มย่อย. สนับสนุน
โดยสถานเอกอัครทูต ณ สิงคโปร์, 2552. (เอกสารอยู่ในระหว่างการตีพิมพ์)

ศรัญยา บุนนาคและเสาวภา ชัยมุสิก. แรงงานไทยในสิงคโปร์. กรุงเทพมหานคร: สมาคมสังคมศาสตร์แห่ง
ประเทศไทย, 2528.

Pattana Kitiarsa. “My Wife Is Not Here with Me”: The Private Life of Thai Workmen in Singapore. A Focus Group Discussion Report. Singapore: Asia Research Institute, National University of Singapore, 2006. (Unpublished Report).
Wong, Diana. “Men Who Built Singapore: Thai Workers in the Construction Industry.” In
Thai Migrant Workers in East and Southeast Asia 1996-1997. Supang Chantavanich, Andreas Germershausen and Alan Beesey, eds. Bangkok: Asia Research Center for Migration, Institute of Asian Studies, Chulalongkorn University, 2000, pp. 58-107.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น